กำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูก่อนปลูกมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 53
กำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูก่อนปลูกมันสำปะหลัง
เพลี้ยแป้งสีชมพูมันสำปะหลังค่อนข้างจะกำจัดยากกว่าเพลี้ยแป้งธรรมดา เพื่อยับยั้งการระบาดมิให้กระจายออกอย่างกว้างขวาง จึงได้มีการศึกษาการใช้สารเคมีโดยการวิจัยของกลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร
นายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังมา ตั้งแต่ต้น กล่าวว่า กลุ่มวิจัยกีฏและสัตววิทยาก็ได้ทำศึกษาวิจัยการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ด้วยสารเคมีก่อนปลูก โดยศึกษาการแช่ท่อนพันธุ์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน กลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ใช้สารเคมีสำหรับแช่ท่อนพันธุ์ คือ 1. ไทอะมีโทแซม 25 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู จี 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 2. อิมิดาคลอพริด 70 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู จี 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 3. ไดโนทีฟูแรม 10 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู พี 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งนาน 5-10 นาที หลังจากแช่แล้วนำไปปลูก ได้ทดสอบแล้ว จะสามารถป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้อย่างน้อยประมาณ 1 เดือน
นายสุเทพ แนะนำวิธีการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารเคมีที่ได้ผลที่สุดคือ ตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพร้อมปลูก แล้วนำไปแช่สารเคมีที่แนะนำไปแล้วข้างต้นประมาณ 5-10 นาที สารเคมีจะถูกดูดซึมเข้าไปในเซลล์พืชได้มากที่สุดและไม่ทำให้พืชเกิดอาการเป็นพิษ จากการทดลองแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในแนวนอนจะต้องใช้เวลา 15 นาที สารเคมีจึงจะซึมเข้าได้หมด ขณะเดียวกันได้ทดลองแช่ท่อนพันธุ์ในแนวตั้งปรากฏว่าใช้เวลาแช่ 24 ชั่วโมง พบว่าสารเคมียังซึมไม่ถึงยอด ซึ่งเราจะศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่าการแช่ในแนวตั้งนานแค่ไหน สารเคมีจึงจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยแป้งได้
“ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้เกษตรกรแช่ท่อนพันธุ์ที่ตัดแล้วพร้อมปลูกหรือแช่ท่อนพันธุ์ในแนวนอนไปก่อน โดยปกติแล้วเกษตรกรมักจะทำการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยฮอร์โมนเร่งราก หรือฮอร์โมนที่มีสารอาหารต่าง ๆ ก่อนปลูกอยู่แล้ว เกษตรกรจะเพิ่มสารเคมีป้องกันเพลี้ยแป้งโดยยอมเสียเวลาแช่ไปอีกสักหน่อย ก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง ซึ่งนอกจากเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์จะตายแล้ว เพลี้ยแป้งก็ไม่สามารถทำลายต้นมันสำปะหลังที่งอกออกมาอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน”
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่าหลังจากที่นำท่อนพันธุ์ที่แช่สารเคมีไปปลูก เมื่อต้นมันสำปะหลังงอก ได้ปล่อยเพลี้ยแป้งไปที่ต้นมันทุกสัปดาห์ และเฝ้าดูว่าวิธีไหนที่เพลี้ยแป้งมีชีวิตอยู่รอด เมื่อเปรียบเทียบกับต้นมันสำปะหลังที่ปลูกโดยแช่น้ำเปล่า พบว่าวิธีที่แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีได้ผลดีที่สุด คือหลังจากที่ปลูกไปแล้วระยะเวลาการทำลายของเพลี้ยแป้งจะช้าลง เพลี้ยแป้งไม่สามารถบินไปได้เนื่องจากไม่มีปีก โอกาสที่จะระบาดก็คือลมพัดมาติดมากับคนและสัตว์เลี้ยงหรือมดพามาเท่านั้น
มีข้อมูลจากมูลนิธิมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย รายงานว่าได้ทำการทดลองแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารไทอะมีโทแซม 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยผสมอยู่ในอัตรา 200 ลิตร สามารถแช่ท่อนพันธุ์ปลูกได้ถึง 40 ไร่ ต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 5 บาท มูลนิธิได้รายงานด้วยว่า จากการทดลองปลูกไปแล้ว 6 เดือน ยังไม่พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีเลย แต่ในแปลงที่ไม่ได้แช่ท่อนพันธุ์ได้มีการพ่นสารเคมีไปแล้ว 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตามในระยะนี้ขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังไปก่อน เพราะอยู่ในช่วงหน้าแล้ง และยังอยู่ในช่วงของการระบาดของเพลี้ยแป้ง การปลูกในช่วงที่เหมาะสมคือ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของฤดูปลูกปี 2553
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-5583, 0-2579-7542.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=44587
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง