ปลูกผักหวานป่าที่สระบุรี

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 12 มกราคม 54
ปลูกผักหวานป่าที่สระบุรี

วันพุธที่ผ่านมาได้กล่าวถึงเรื่อง ชาผักหวานป่า ที่ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (วว.) โดยสถานีวิจัยลำตะคอง ได้วิจัยการปลูกผักหวานป่าเป็นการค้าและได้วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผักหวานป่านอกเหนือจากรับประทานสด โดยนำมาแปรรูปเป็นชาผักหวานป่าพร้อมดื่มที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น มีความสามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาผิวพรรณให้สดใส ลดรอยเหี่ยวย่น แต่ก่อนนั้น การปลูกผักหวานป่าอาจดูเหมือนว่าปลูกยาก แต่ทุกวันนี้ไม่ยากแล้ว คราวที่แล้วไปดูเกษตรกรปลูกผักหวานป่าที่สระบุรี เขาทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่จำหน่ายต้นพันธุ์ วันที่ไปดูงานมีคนเดินทางมาจากชัยภูมิมาซื้อต้นพันธุ์ด้วย แสดงว่าต่อไปจะมีการปลูกผักหวานป่ากันมากขึ้น แต่ผลผลิตจะมากขึ้นหรือเปล่าไม่ทราบได้เพราะซื้อไปปลูกแต่ก็ไม่ได้หมายความ ว่าจะเจริญเติบโตแข็งแรง เพราะการปลูกผักหวานป่ามิใช่เรื่องง่าย (แต่ก็ไม่ยาก) นอกจากจำหน่ายต้นพันธุ์เขาก็ปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นผลผลิตผักหวานป่า นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชา, คุกกี้ เป็นต้น

ในพื้นที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เป็นแหล่งเพาะปลูกผักหวานป่าแหล่งใหญ่ในประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 1,000 ไร่ นายรับ พรหมมา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.หนองบัว อ.บ้านหมอ ในฐานะผู้นำกลุ่มผักหวานป่า เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นป่าซึ่งมีผักหวานป่าขึ้นตามธรรมชาติมากว่า 30 ปี ซึ่งตนและชาวบ้านก็เก็บผักหวานป่าขายเป็นรายได้เสริมจากการทำไร่ แต่ต่อมาเมื่อพื้นที่ป่าถูกทำลาย ทำให้ผักหวานป่าลดจำนวนลงส่งผลให้ราคาผักหวานป่าสูงขึ้นจนเป็นที่สนใจของชาวบ้าน จึงมีความพยายามขยายพันธุ์ผักหวานป่ามาปลูก

กว่าจะหาวิธีขยายพันธุ์ผักหวานป่าได้สำเร็จก็ใช้ระยะเวลานานเพราะต้องลองผิด ลองถูกจนกว่าจะได้วิธีที่ได้ผล โดยเทคนิคการขยายพันธุ์ที่คิดค้นขึ้นคือ การใช้แปลงผักหวานป่าที่มีต้นแก่อายุ 15-20 ปี ทำได้ 2 แบบ คือ การสับราก ให้ชิดโคนต้นจนรอบลำต้นแล้วจึงขุดย้ายต้นแก่ออก รากรอบ ๆ ต้นจะแตกออกเป็นต้นใหม่ได้นับสิบต้น อีกวิธีหนึ่งคือ การตัดตอ โดยตัดลำต้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ซม. ผักหวานป่าจะแตกกิ่งตามตาข้างรอบ ๆ ตอเดิม โดยทั้งสองวิธีจะสามารถเก็บผลผลิตได้เมื่อต้นอายุ 1 ปี ซึ่งน้อยกว่าวิธีการเพาะเมล็ดที่ต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี ถึงจะเก็บผลผลิต ได้ ปัจจุบันที่สวนแห่งนี้สามารถขยายพันธุ์ผักหวานป่าจำหน่ายในราคาตั้งแต่ 150 บาท ไปจนถึง 700 บาท แล้วแต่ขนาดของต้น

สำหรับวิธีการปลูกผักหวานป่าต้องมีไม้ประธานเพื่อพรางแสงแดดและให้ร่มเงา เลียนแบบป่าธรรมชาติ ซึ่งในพื้นที่ของผู้ใหญ่รับมีการปลูกมะขามเทศ ต้นแค ชะอม ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง สามารถเก็บผลผลิตขายเป็นรายได้เสริมในช่วงที่ผักหวานป่ายังไม่ให้ผลผลิต ที่สำคัญใบของพืชประธานเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ

ผู้ใหญ่รับแนะนำว่าควรทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ กระตุ้นการแตกยอดของผักหวานป่าได้ดีขึ้น ซึ่งตนในฐานะหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่อง การผลิตและใช้สารอินทรีย์จากสารเร่ง พด. นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสาร เคมีทางการเกษตร เพื่อผลิตสารอินทรีย์ไว้ใช้เองในกลุ่ม ลดต้นทุนการผลิต

สำหรับ สูตรน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตใช้เอง ในแปลงผักหวานป่าของผู้ใหญ่รับ ประกอบด้วย ปลาหรือหอยเชอรี่ 30 กก. ยอดผักต่าง ๆ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง 10 กก. น้ำนมดิบ 5 ลิตร น้ำมะพร้าว 5 ลิตร กากน้ำตาล 10 กก. สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง หมักทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วจึงนำมาใช้ตามสัดส่วนที่กำหนด ได้แก่ ผักหวานอายุ 4 เดือน จะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพในอัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน อายุ 1 ปี จะใส่ปุ๋ยคอกมูลวัว ครั้งละ 250 กก.ต่อไร่ จำนวน 2 ครั้งต่อปี อายุ 2 ปีขึ้นไปจะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน ร่วมกับใส่ปุ๋ยคอกครั้งละ 500 กก.ต่อไร่ รวม 2 ครั้งต่อปี

หากผู้ใดสนใจเรื่องราวของผักหวานป่าและผลิตภัณฑ์ สอบถามที่ ผู้ใหญ่รับ พรหมมา โทร. 08-9903-8195 ที่นี่เป็นจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลใน เรื่องการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสาร เร่ง “ซุปเปอร์ พด.2” ในการเพิ่มผลผลิตผักหวานป่าโดยตรง นอกจากนี้ที่นี่เขายังมีผลิตภัณฑ์จากผักหวานป่าด้วย เช่น ชา คุกกี้ เป็นต้น.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=663&contentID=114873