ชาผักหวานป่า ต้านอนุมูลอิสระ
ได้ไปดูงานการปลูกผักหวานป่าและทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเกษตรกรที่สระบุรี แต่วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวการวิจัยผักหวานป่าของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้วิจัยชาผักหวานป่าพร้อมดื่ม ที่บอกว่าสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาใบหม่อน/ชาดอกคำฝอย มีสารโคเอนไซม์คิวเทนที่เพิ่มพลังงานให้เซลล์ ลดระดับคอเลสเตอรอลและลดความเสี่ยงการเกิดโรคเนื่องจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย
จากการที่ วว. โดยสถานีวิจัยลำตะคองทำการวิจัยการปลูกผักหวานป่าเป็นการค้า และได้วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผักหวานป่านอกเหนือจากการรับประทานสด โดยนำใบกลางแก่กลางอ่อนมาแปรรูปเป็นชาผักหวานป่าชนิดชงและชนิดผงพร้อมชงแล้วนั้น ขณะนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปชาผักหวานป่าให้เป็น “ผลิตภัณฑ์ชาผักหวานป่าพร้อมดื่ม” ซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบายและบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ชาผักหวานป่าพร้อมดื่ม นอกจากจะมีลักษณะกลิ่นหอมเฉพาะตัวแล้ว ยังมีสีสันที่แตกต่างจากชาโดยทั่วไปคือมีสีทองใส มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้ชาใบหม่อนหรือชาจากพืชชนิดอื่น ๆ เนื่องจากชาผักหวานป่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาใบหม่อนและ ชาดอกคำฝอย นอกจากนี้ชาผักหวานป่า 100 กรัม (ต่อน้ำหนักแห้ง) ยังประกอบด้วยวิตามินชนิดต่าง ๆ ได้แก่ วิตามินเอ 9,616.99 ไมโครกรัม ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อม วิตามินบี 1 0.18 มิลลิกรัม ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้าทำให้รู้สึกสดชื่น วิตามินบี 2 0.26 มิลลิกรัม มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงช่วยในการป้องกันเชื้อโรคและลดรอยเหี่ยวย่น วิตามินบี 3 10.64 มิลลิกรัม ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด วิตามินซี 37.49 มิลลิกรัม เป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน ช่วยรักษาผิวพรรณให้สดใส และวิตามินอี 71.92 มิลลิกรัม ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระในไขมัน ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้ชาผักหวานป่ายังประกอบด้วยโคเอนไซม์คิวเทน 1.49 มิลลิกรัม ซึ่งมีบทบาทในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อมและยังมีสารคอลลาเจน 4.94 กรัม ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น จึงช่วยยับยั้งการหย่อนยานของผิวหนังและ ลดริ้วรอยแห่งวัยได้
วว. ประสบผลสำเร็จในการปลูกผักหวานป่าเชิงระบบทางการค้า ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีผักหวานป่าเป็นพืชหลัก และมีการปลูกพืชหลายระดับเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางลบกับการเจริญเติบโตของผักหวานป่า โดยเริ่มจากปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เช่น แคบ้าน กล้วย มะม่วง และสะเดา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นไม้พี่เลี้ยงให้ร่มเงาที่ถาวร เนื่องจากตามธรรมชาติผักหวานป่าเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของไม้อื่น ตามด้วยการปลูกไม้ระดับกลางคือผักหวานป่าซึ่งเป็นพืชหลัก และการปลูกพืชระดับล่างเป็นพืชอายุสั้นที่ให้ผลผลิตได้เร็ว เช่น พืชผัก เป็นต้น
สถานีวิจัยลำตะคองซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 333 หมู่ 12 ถนนมิตรภาพ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 มีความพร้อมในการฝึกอบรมการปลูกผักหวานป่าให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจเพื่อการประกอบเป็นอาชีพ เนื่องจากการปลูกผักหวานป่าเชิงระบบนั้น เป็น ระบบการปลูกพืชที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นยังเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้ารับการฝึกอบรมหรือเยี่ยมชมแปลงสาธิตได้ที่โทร. 0-4439-0107, 0-4439-0150, 08-1999-4770 โทรสาร 0-4439-0107.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=113561