คนไทยทำสำเร็จ ตัดแต่งมะละกอ GMO


มะละกอจีเอ็มโอ ผลงานวิจัยครั้งแรกโดยคนไทย ใช้ระยะเวลานานถึง 8 ปี พบคุณสมบัติต้านทานโรคจุดวงแหวน ที่ระบาดทั่วอีสานทดลองได้ผลแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ กรมวิชาการเกษตรเตรียมผลักดันสู่การเผยแพร่ความรู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาปลูกมะละกอไม่ได้ผลผลิตทันที หากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืชจีเอ็มโอ งานนี้ฉายแวว?บักหุ่ง?ไม่สิ้นแผ่นดินอีสาน

มะละกอนับเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกษตรกรในภาคอีสาน ปลูกมะละกอได้ผลผลิตไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค ขณะเดียวกันการระบาดของโรคจุดวงแหวน ได้ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2528 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมะละกอเพื่อการค้าในภาคกลาง เช่น จังหวัดราชบุรี นครปฐม

ปี พ.ศ.2535 ระบาดรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกมะละกอ ส่งโรงงานผลไม้กระป๋อง เช่น ที่จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี และปี พ.ศ.2542 ระบาดรุนแรงในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ไทยขยับเป็นอันดับหนึ่งของบรรดาประเทศทั่วโลก ที่มีการปลูกมะละกอที่ประสบปัญหาดังกล่าว

กรมวิชาการเกษตร จึงได้หาแนวทางการแก้ปัญหา โดยดำเนินการวิจัยพัฒนาพันธุ์มะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMOs) เพื่อต้านทานโรคจุดวงแหวน
สาเหตุโรคจุดวงแหวน เกิดจากเชื้อไวรัส Papaya Ringspot Virus (PRVS) ทำให้มะละกอมีอาการใบเหลืองด่าง มีจุดวงแหวนที่ผล และหยุดการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ และแพร่ระบาดโดยมีเพลี้ยอ่อนหลายชนิดเป็นพาหนะนำโรค แต่ไม่ติดไปกับเมล็ด พันธุ์มะละกอที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แขกนวลและแขกดำ ล้วนเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคทั้งสิ้น

เมื่อปี พ.ศ.2538 กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา โดยทุนสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้ส่งนักวิชาการเกษตร 2 ท่านคือ ดร.นงลักษณ์ ศรินทุ และดร.ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล ไปปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อสร้างมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม โดยใช้มะละกอสายพันธุ์ไทยและเชื้อไวรัสของโรคสายพันธุ์ไทยจากขอนแก่น จนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2540 ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.เดนนิส กอลซาเวส (Dr.Dennis Gonsalves) เจ้าของเทคโนโลยีมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งสามารถหาพันธุ์ต้านทานและปลูกในฮาวาย เพื่อผลทางการค้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นประเทศแรก

จากนั้นคณะนักวิจัยได้มีการนำมาศึกษาและวิจัยต่อ ที่สถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น ทดสอบปลูกและคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านทาน ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดลอง เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2545

นางวิไล ปราสาทศรี ผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น เปิดเผยผลการวิจัยว่า นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งสามารถคัดได้พันธุ์แขกนวล ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ที่ตัดต่อพันธุกรรมสามารถต้านทานโรคจุดวงแหวนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 3 สายพันธุ์ และพันธุ์แขกดำซึ่งเป็นที่นิยม 2 สายพันธุ์ และไม่เพียงโรคจุดวงแหวนที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเท่านั้น เมื่อนำไปทดสอบความต้านทานโรค ที่เกิดมะละกอทุกชนิดทั่วประเทศก็สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน นับได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา

นางวิไล กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้สนใจที่ทราบข่าว ต่างขอพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอไปทดลองปลูกแต่ไม่สามารถแจกจ่ายได้ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอยังอยู่ในควบคุมของรัฐบาล ต้องดำเนินการทดลองวิจัยตามขั้นตอน ภายใต้กฎระเบียบและการควบคุมของคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของไทย และได้มาตรฐานสากล ทั้งในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและอาหาร ก่อนที่จะขอออกจากการควบคุม

ที่ผ่านมาทั้งห้องปฏิบัติการ และพื้นที่กว่า 11 ไร่ ที่เป็นแปลงทดลองภายในสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น มีควบคุมความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแปลงทดลองกั้นด้วยรั้วลวดหนามและปลูกต้นศรนารายณ์ และต้นกระบองเพชรเป็นกำแพงอีกชั้นเพื่อป้องกันคนและสัตว์เข้าไป

สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของยีน (gene) ใช้วิธีคลุมดอกมะละกอ ด้วยถุงกระดาษเคลือบแว็คซ์ ตัดดอกตัวผู้ที่ไม่ต้องการใช้ทิ้ง และปลูกต้นกล้วยเพื่อบังลมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการทำลายต้น ใบ ที่เหี่ยวแห้งหรือผลที่สุกแล้ว รวมทั้งเมล็ดที่ไม่ต้องการจะกำจัดโดยวิธีการเผาและนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ส่วนเมล็ดที่ต้องการจะเก็บเข้าตู้เย็นรักษาอย่างมิดชิด

นางวิไล บอกอีกว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านชีวภาพและอาหารแล้วระยะหนึ่ง ผลจากการประเมินในด้านชีวภาพไม่พบความผิดปกติของผึ้ง ที่มากินน้ำหวานจากเกสรดอกมะละกอ รวมทั้งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ดิน และความผิดปกติของพืชที่ปลูกทดแทนภายหลังแต่อย่างใด เหลือเพียงการทดสอบว่าจะมีโรคไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้น และทำให้พืชชนิดอื่นเป็นโรคหรือไม่เท่านั้น

ส่วนการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่า มะละกอจีเอ็มโอมีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกับมะละกอปกติ เหลือเฉพาะการทดสอบความเป็นพิษว่าจะมีผลข้างเคียงตามมาเมื่อรับประทานเข้าไปหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในหกเดือน

จากนั้นหากรัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมพืชจีเอ็มโอ ทางกรมวิชาการเกษตรจะยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยมะละกอจีเอ็มโอชิ้นนี้ ก่อนนำเผยแพร่สู่เกษตรกรที่เดือดร้อนต่อไป เพราะในอนาคตอาจมีการแข่งขันในเรื่องนี้สูง ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศต่างให้ความสนใจต่อมะละกอจีเอ็มโอมาก อย่างเช่นประเทศไต้หวันก็กำลังศึกษาวิจัยอยู่ หรือแม้แต่ในบังคลาเทศเองเริ่มจะทำการวิจัย ภายหลังพบว่าประชากรโดยเฉพาะเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับสายตาจำนวนมาก และอีกไม่ช้านี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะเซ็นสัญญานำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย

ขณะที่ประเทศไทยและในภาคอีสาน เกษตรกรทั้งที่ปลูกมะละกอเป็นอาชีพและปลูกไว้รับประทานเอง ได้รับความเสียหายจากโรคจุดด่างวงแหวน หลายแห่งมะละกอเป็นโรคจนเกือบหมดไม่สามารถให้ผลได้ ทำให้มะละกอดิบมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 9 บาท รวมทั้งโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง เพื่อการส่งออกก็ขาดแคลนวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน หากรัฐบาลพิจารณาเห็นชอบให้ผลงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง

แม้ว่าช่วง 2- 3 ปีนี้จะมีกระแสข่าวการคัดค้านพืชจีเอ็มโอ แต่นางวิไลย้ำชัดว่า การวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถหยุดได้ เพราะได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 หากทิ้งไปจะเป็นสูญเสียงบประมาณ ไปกว่า 10 ล้านบาท

หรือแม้แต่กระแสข่าวที่ว่า หากรับประทานพืชจีเอ็มโอแล้วจะเป็นหมัน นางวิไลยืนยันว่า ในกลุ่มของนักวิจัยเองและผู้ที่ทดลองรับประทานมะละกอจีเอ็มโอ ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีแล้วนั้น ไม่ประสบปัญหาการมีบุตรแต่อย่างใด เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า ตราบใดที่มะละกอยังเป็นพืชที่หาง่าย ราคาถูก อุดมด้วยแหล่งวิตามินเอและซี ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น และหากส้มตำยังคงเป็นอาหารหลักของชาวอีสานและอาหารหลักประจำชาติแล้ว งานวิจัยโครงการนี้นับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไป เหลือเพียงคำตอบจากรัฐบาลที่จะปล่อยให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงตำราวิชาการอยู่บนหิ้งเท่านั้นหรือไม่

สำหรับมะละกอ (Carica papaya L.) เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย นอกจากเกษตรกรที่ปลูกเป็นอาชีพแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปยังนิยมปลูกไว้ตามบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคภายในครอบครัว ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยมีปริมาณมาก ทั้งเพื่อบริโภคดิบ โดยเฉพาะการทำส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งของเกษตรกรและคนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถือเป็นอาหารหลักประจำชาติอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังบริโภคสุก เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและมีคุณค่าอาหารสูง และส่งโรงงานแปรรูป เป็นผลไม้กระป๋อง เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศระหว่างปี 2536-43 เฉลี่ยปีละ 124,260 ไร่ ผลผลิตรวมเฉลี่ยปีละ 346,749 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ มีการส่งออกไปต่างประเทศเป็นผลไม้สดน้อยมาก กล่าวคือในปี 2543 ส่งออกปริมาณ 182 ตัน มูลค่า 7-8 ล้านบาท และส่งออกผลไม้กระป๋อง 1,462 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท
โดยตลาดหลักจะอยู่ในประเทศแถบยุโรปถึงร้อยละ 69 รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงทำให้มะละกอเป็นพืชหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการผลิต ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 เป็นต้นมา (กรมศุลกากร,2543)

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2546