ประโยชน์จากเปลือกสัตว์น้ำผลิต ไคโตซานพ่นเคลือบคงความสดผลไม้


ไคโตซานเป็นอนุพันธ์ของไคติน…. ที่เป็นองค์ประกอบหลัก ของเปลือกสัตว์น้ำจำพวกข้อ, ปล้อง เช่น กุ้ง ปู และกระดองหมึก นำสู่ขบวนการผลิตออกมา มีลักษณะคล้ายผงแป้ง ส่วนคุณสมบัติทางเคมี เป็นสารประกอบน้ำตาลโมเลกุลยาว สามารถละลายได้ในกรดอินทรีย์ อย่างเช่น กรดน้ำส้ม กรดแล็กติก เป็นต้น

ปัจจุบันนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นยารักษาโรค มีการพัฒนาเข้ากับส่วนประกอบของเครื่องสำอางหลายรูปแบบ เริ่มนำเข้ามาใช้กับภาคการเกษตรได้อย่างเป็นประโยชน์ มีคุณอเนกอนันต์ แก่เกษตรกร !!!

ทดลองใช้มานานแล้วยังไม่ค้นพบสิ่งที่เป็นโทษแต่อย่างใด ??? นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการประมงที่เจริญรุดหน้า เฉพาะในปี 2542 ผลิตภัณฑ์ปู, กุ้ง และปลาหมึก แปรรูปส่งออกต่างประเทศมีปริมาณหลายแสนตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ในการแปรรูปส่วนใหญ่มีเศษเหลือประเภทเปลือกของสัตว์น้ำเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย สามารถนำมาผลิตเป็นไคโตซาน ได้จำนวนมาก

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตไคโตซานอยู่บ้างแล้ว แต่การนำมาใช้ ประโยชน์ในภาคการเกษตรยังไม่ค่อยแพร่ หลาย จนกระทั่ง ดร. อัธยา กังสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ได้ทดลองศึกษาวิจัยนำไคโตซานจากเปลือกสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้แก่ เปลือกกุ้ง กระดองปู และกระดองหมึกที่ผลิตออกได้แล้ว

นำมาทดลองฉีดพ่นเคลือบผิวมังคุด ปรากฏว่าไคโตซานทำปฏิกิริยาปกป้องและรักษาสีสันเปลือกมังคุดไว้ได้นานประมาณ 1 เดือน หรือ 30 วัน โดยมังคุดเปลือกแข็งเพียงร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับมังคุดที่ไม่ได้ฉีดพ่นเคลือบไคโตซาน มีการแข็งตัวของเปลือกสูงถึง 22% (ในตู้เย็น) และถึง 90% ในอุณหภูมิห้อง

ผลมังคุดที่ไม่ได้เคลือบไคโตซาน ซีดจาง กลีบเลี้ยงสีซีด เหี่ยวเฉา กลายเป็นลักษณะ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและฮ่องกง ถือว่าเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ จะยึดหลักสีสันลักษณะภายนอก ในการตัดสินใจซื้อมังคุดของไทย เมื่อทดลองผ่าผลมังคุดชิมเนื้อด้านในดู ปรากฏว่ายังมีรสชาติอร่อยไม่เน่าเสียก่อน 30 วัน ตรงกันข้ามผลมังคุด ที่ไม่ได้ฉีดพ่นเคลือบไคโตซาน เน่าเสียไปแล้วอย่างเห็นได้ชัดเจน!!!

ผลไม้ชื่อว่ามังคุด จัดอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการส่งออกของไทย มีชื่อติดอันดับเป็น “ราชินีแห่งผลไม้” แต่มีปัญหาควบคุมคุณภาพเพื่อให้มีลักษณะที่ยังมีปัญหาควบคุมไม่ได้!!! เปลือกมังคุดแข็งตัวเร็วเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อการส่งออก

ผลผลิตแต่ละปีสูงถึง 150,000-200,000 ตัน ปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศทั้งในรูปมังคุดสดและแช่เยือกแข็งปีละ 10,000 ตันเศษ มูลค่า 430 ล้านบาท นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

การศึกษาวิจัยเพื่อนำสิ่งที่สามารถสกัดได้จากเปลือกสัตว์น้ำคือไคโตซาน… สารธรรมชาติ…มาใช้ ประโยชน์กับผลไม้ส่งออกยอดนิยมของไทย เช่น ทุเรียน, น้อยหน่า โดยเฉพาะมังคุด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว

เป็นแนวทางที่ปลอดภัยได้ประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

นับว่าเป็นก้าวสำคัญ ช่วยให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และเอกชนที่ผลิตไคโตซานและมังคุด นำไปพัฒนาเพื่อใช้แก้ปัญหาคุณภาพของมังคุดหรือผลผลิตภาคเกษตรกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ของทุกฝ่าย!!!

กรมประมงประกาศว่าพร้อมให้ความรู้ และร่วมมือในเรื่องไคโตซาน จากเปลือกสัตว์น้ำอย่างเต็มกำลังความสามารถครับ..

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2546