สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนการส่งออกผักและผลไม้

ผักและผลไม้ ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน และฮ่องกง เห็นได้จากมูลค่าส่งออกผักและผลไม้รวม 352 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2546 เนื่องจากการเพาะปลูกผักและผลไม้ของไทยมีมาตรฐานสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้นกับสุขอนามัยของผักและผลไม้ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบศัตรูพืชและปริมาณสารพิษตกค้างในผักและผลไม้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกผักและผลไม้ของไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนดอย่างเคร่งครัด

สิ่งสำคัญที่ผู้ส่งออกผักและผลไม้ของไทยต้องเตรียมพร้อมก่อนการส่งออกมีดังนี้

  • ใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) ประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่มักกำหนดให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ (สดแช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง) ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากประเทศผู้ส่งออกแสดงต่อด่านนำเข้าจึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้ ในขณะที่ผักและผลไม้บางชนิดอาจไม่ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืช (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศ) และในบางประเทศอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ระบุในใบรับรองปลอดศัตรูพืช อาทิ วิธีการกำจัดศัตรูพืช ชนิดของศัตรูพืช หรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ในประเทศของตนต้องลงนามร่วมกับเจ้าหน้าที่ของประเทศผู้ส่งออก (เฉพาะการส่งออกมะม่วงและมังคุดไปญี่ปุ่นเท่านั้น)

ผู้ที่ต้องการส่งออกผักและผลไม้ต้องให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช โดยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะสุ่มตรวจสินค้าก่อนจึงจะออกใบรับรองให้ ซึ่งปริมาณการสุ่มตรวจขึ้นอยู่กับปริมาณศัตรูพืชที่มีโอกาสปนเปื้อนไปกับผักและผลไม้ อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้อาจถูกสุ่มตรวจจากประเทศปลายทางอีกครั้งแม้ว่ามีใบรับรองปลอดศัตรูพืชแล้วก็ตาม ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ

  • ใบรับรองสารพิษตกค้าง (Certificate of Pesticide Residues) กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้การส่งออกผักและผลไม้บางชนิด (สดแช่เย็น แช่แข็ง และอบแห้ง ทั้งเป็นลูก แกะเปลือก และหั่นเป็นชิ้น ขึ้นอยู่กับชนิดของผักและผลไม้เป็นสำคัญ) ไปยังตลาดส่งออกสำคัญต้องได้รับการตรวจสารพิษตกค้างจากกรมวิชาการเกษตรก่อนแม้ว่าประเทศผู้นำเข้าไม่กำหนดเงื่อนไขของการมีใบรับรองสารพิษตกค้างก็ตาม เพื่อให้การส่งออกผักและผลไม้ไปยังประเทศต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับรายละเอียดของผักและผลไม้ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ต้องตรวจสารพิษตกค้างมีดังนี้
  • ผักและผลไม้ 12 ชนิด ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและอีก 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว ขิง (อ่อนและแก่) ข้าวโพดฝักอ่อน พริก (รวมพริกแห้งและพริกป่น) หน่อไม้ฝรั่ง ลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด มะม่วง มะขาม (หวาน เปรี้ยว และอ่อน) และส้มโอ
  • ผัก 21 ชนิด ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ได้แก่ คะน้า ผักคะแยง ใบบัวบก ผักแพรว ชะอม/ส้มป่อย ใบมะกรูด กระเจี๊ยบเขียว ผักชี ยี่หร่า ใบกะเพรา ใบโหระพา ตะไคร้ ใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย ใบแมงลัก ผักเป็ด ถั่วลันเตา กะหล่ำใบ ผักชีลาว และผักกะเฉด

ทั้งนี้ สารตกค้างที่อยู่ในเกณฑ์ตรวจสอบ คือ สารกำจัดแมลง 38 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 7 ชนิด และสารกำจัดวัชพืช 7 ชนิด

  • การจดทะเบียนผู้ส่งออก กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ส่งออกทุเรียนสดและลำไยสด ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก่อนจึงสามารถส่งออกผลไม้ทั้ง 2 ชนิดออกนอกราชอาณาจักรได้ สำหรับด้านประเทศผู้นำเข้าขณะนี้มีเพียงออสเตรเลียซึ่งกำหนดให้ผู้ส่งออกสับปะรดสดไปออสเตรเลียต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก่อน
  • การขึ้นทะเบียนสวน ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าบางประเทศเริ่มกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนสวนซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่ต้องการส่งออก อาทิ จีนกำหนดให้ขึ้นทะเบียนสวนมะม่วง และออสเตรเลียกำหนดให้ขึ้นทะเบียนสวนสับปะรด เป็นต้น ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนสวนให้กับผู้ส่งออก

การจัดเตรียมใบรับรองและการจดทะเบียนดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะช่วยลดอุปสรรคในการส่งออกผักและผลไม้ของไทยแล้ว ยังช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผักและผลไม้สดซึ่งมีโอกาสเน่าเสียง่ายหากมีการกักกันการนำเข้า ณ ประเทศปลายทาง ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกควรศึกษาถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ ชนิดของผักและผลไม้ที่แต่ละประเทศอนุญาตให้นำเข้า รสนิยมของผู้บริโภค ช่วงเวลาที่ควรส่งออก และระบบภาษี เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนการส่งออกผักและผลไม้ไปตลาดต่างประเทศ

ที่มา : ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (http://www.exim.go.th/info/nana_detail.asp?tran_ID=47000001061)