เทคโนโลยีการเกษตรได้พัฒนาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ การควบคุมศัตรูพืช การควบคุมการงอกและชะลอการสุก การเน่าเสียของผลผลิต โดยกรรมวิธีที่ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม คือ การใช้รังสีเพื่อการเกษตร
คลื่นกระแสไฟฟ้า รังสีอุลตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ รังสีแกรมมา หากจะแบ่งรังสีตามแหล่งกำเนิดมี 2 ชนิด คือ แหล่งรังสีธรรมชาติ ได้แก่ รังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์ และรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในดิน น้ำและสิ่งมีชีวิต เช่น รังสีแกมมาจากยูเรเนียมและโปแตสเซียม-40 และรังสีที่ผลิตโดยมนุษย์ เกิดจากเครื่องมือที่มนุษย์ผลิตขึ้นมา เช่น รังสีเอ็กซ์จากเครื่องเอกซ์เรย์ รังสีแกรมมาจากเครื่องโคบอลต์-60 ซึ่งใช้กันมากทางการแพทย์ รวมทั้งฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ |
รังสีที่นำมาใช้ประโยชน์ ปัจจุบัน คือ รังสีเอกซ์ หรือรังสีแกรมมา โดยในทางการแพทย์ใช้เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาโรคบางชนิด ทางอุตสาหกรรมใช้ในการตรวจหารอยบกพร่อง เช่น รอยแตก รอยร้าว วัดความหนาบางของวัตถุ และใช้ฆ่าเชื้อในเครื่องมือการแพทย์ ด้านการเกษตร มีประโยชน์หลัก 3 ด้าน คือ ใช้ถนอมอาหาร ยับยั้งการงอกของผลผลิต เช่น หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ฆ่าเชื้อโรคในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ทำหมันแมลงวันทอง และใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสร้างพันธุ์พืชใหม่ที่สวยงามและมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเดิม จากประโยชน์และความปลอดภัยจากการใช้รังสีดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้รังสีในการส่งเสริมการเกษตร โดยร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการใช้รังสีเพื่อกำจัดแมลงและไล่ศัตรูพืชในพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกในเมล็ดพืช ธัญพืช เช่น มะม่วง มะขามหวาน กระเจี๊ยบเขียว กล้วยไม้ และการใช้รังสีเพื่อถนอมอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษา ควบคุมการงอก ชะลอการสุก กำจัดเชื้อโรคและพยาธิ เช่น แหนม มันฝรั่ง พริกแห้ง พริกไทย การทำหมันแมลงผลไม้ เป็นต้น และเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมต่องานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้งสถาบันรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตรขึ้น โดยให้เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แบ่งการบริหารเป็นฝ่ายอำนวยการ กลุ่มงานรังสีเพื่อการควบคุมศัตรูพืช กลุ่มงานรังสีเพื่อการพัฒนาคุณภาพผลผลิตการเกษตร กลุ่มงานรังสีเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ และศูนย์ปฏิบัติการรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร |
|
นางวัชรีพร โอฬารกนก ผู้อำนวยการสถาบันรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง ภารกิจของสถาบันรังสีฯ ว่า เพื่อศึกษาวิเคราะห์ พัฒนา ส่งเสริมวิทยาการและกระบวนการใช้รังสี รวมทั้ง วิทยากรที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร, จัดทำแผนส่งเสริมการผลิต ขยายการใช้ประโยชน์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รังสีแก่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการปฏิบัติงานด้านรังสีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยกิจกรรมแรกหลังการจัดตั้งสถาบันรังสีฯ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการเจรจา ในโครงการความร่วมมือด้านรังสีเพื่อการเกษตร กับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO / IAEA) โดยนายปราโมทย์ รักษาราฏร์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหัวหน้าทีมในการเจรจา และได้ข้อสรุป คือ มีแผนความร่วมมือในการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2544 – 2548 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2544 – 2545 เน้นด้านถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับความช่วยเหลือทุนดูงานและการฝึกอบรมจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ 22 ทุน สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมโครงการทุกระดับ เพื่อพัฒนาความรู้ แนวความคิด และความสามารถด้านการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีผสมผสาน โดยเน้นการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันจากการฉายรังสี สามารถผลิตขยายและทำหมันแมลงวันผลไม้ด้วยการฉายรังสี จำนวนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านตัว/สัปดาห์ โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 20,000 ไร่ มีเป้าหมายลดการระบาดทำลายของแมลงวันผลไม้จึงถึงระดับต่ำกว่า 5% ลดการใช้สารเคมีไม่ต่ำกว่า 50% ในระยะเวลา 3 ปี และคาดว่าจะสามารถปกป้องความเสียหายของผลผลิตจากการทำลายของแมลงวันผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการผลิต ขยายแมลงวันผลไม้ระดับ 300 ล้านตัว/สัปดาห์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเป็นผู้ออกแบบและแนะนำในการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายการปฏิบัติในปีต่อไป | |
ระยะที่ 2 ดำเนินการระหว่างปี 2546 – 2547 จะขยายพื้นที่คุ้มครองผลผลิตจากแมลงวันผลไม้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ไร่ต่อจุด และจะขยายโครงการความร่วมมือด้านการใช้รังสีเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออก เช่น การฉายรังสีผัก ผลไม้ สมุนไพร อาหารเพื่อฆ่าแมลง ไข่แมลง พยาธิ เชื้อโรคที่ปนเปื้อนไปกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเกษตรกรก่อนการส่งออก และด้านการฉายรังสีเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์พืช
ระยะที่ 3 ดำเนินการระหว่างปี 2547 – 2548 โดยจะขยายพื้นที่คุ้มครองผลผลิตจากแมลงวันผลไม้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ต่อจุด จะเห็นว่าการนำรังสีมาใช้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผลผลิตการเกษตร โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงแล้ว ยังก่อให้เกิดความร่วมมือและเครือข่ายระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออก – เกษตรกร – ผู้ส่งออก ในการเอื้อต่อระบบการสำรวจ ตรวจสอบในพื้นที่นำร่อง เพื่อใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่ที่เหมาะสมอื่นๆ และยังก่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการในการปฏิบัติดูแลผลผลิตทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวอีกด้วย ที่มา: อมรทิพย์ ภิรมย์บูรณ์ กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร |