ผลการศึกษาวิเคราะห์การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการค้าและระดับการแข่งขันในตลาดโลกอย่างรุนแรง ส่งผลให้การค้าของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และเพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และรองรับนโยบายด้านการส่งออกและนำเข้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสของประเทศไทย และมีข้อเสนอเป็นแนวทางพัฒนาการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ดังนี้
1. ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
   1.1 ยกระดับความเป็นสากลของผู้ประกอบการ แนวทางดำเนินการ

  • ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สำรวจความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประสานและสนับสนุนร้านอาหารไทยในต่างประเทศใช้วัตถุไทยและผลิตอาหารไทยที่ได้มาตรฐาน
  • สนับสนุนการร่วมลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพส่งมายังอุตสาหกรรมแปรรูปของไทย
   1.2 เชื่อมโยงระหว่างการส่งออกและนำเข้า แนวทางดำเนินการ

  • สร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยผลิตให้มีความหลากหลาย คุณภาพสูง มีความปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิต
  • สนับสนุนเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ควบคู่กับปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการลดการใช้สารเคมีโดยวิธีการชีววิธี
   1.3 เจาะลึกและกระจายตลาด แนวทางดำเนินการ

  • ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิจัยความต้องการสินค้าเกษตรของแต่ละตลาดที่สำคัญ
  • ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรชนิดใหม่ที่มีศักยภาพส่งออก โดยจัดให้มีห้องเย็นเก็บสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
   1.4 สร้างความแตกต่างและหลากหลายของสินค้า แนวทางดำเนินการ

  • ปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวการ คัดแยกคุณภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย การกำหนดมาตรฐาน การรับรองแหล่งผลิต โรงคัดบรรจุ โรงแปรรูปสินค้าเกษตรและระบบ HACCP เพื่อสนองความต้องการของตลาดในประเทศต่างๆ
  • สนับสนุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการวิจัยการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงกระจายไปสู่เกษตรกร ศึกษาวิจัยด้านโรคพืช โรคสัตว์ในประเทศ เพื่อรองรับปัญหาโรคระบาดที่ยังมีอยู่
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรเพื่อการผลิต โดยการสร้างระบบชลประทานและสระน้ำ รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์
  • ส่งเสริมการผลิตตามเขตเกษตรเศรษฐกิจ และสนับสนุนการจัดทำฟาร์มตัวอย่างในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับเกษตรกร
   1.5 ยกขีดความสามารถในการส่งออก แนวทางดำเนินการ

  • พัฒนากระบวนการส่งออกสินค้าเกษตร โดยการปรับปรุงขั้นตอนการขอใบอนุญาตกระบวนการตรวจปล่อย กระบวนการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรให้มีความคล่องตัว เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เพิ่มศักยภาพการให้บริการข้อมูลด้านการเกษตรต่างประเทศที่สามารถสนองความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
   1.6 เจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้า ดำเนินการโดยเพิ่มบทบาทและภารกิจของสำนักงานที่ปรึกษาการต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการผลักดัน การขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในต่างประเทศ
2. ด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร
   2.1 ดำเนินมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
   2.2 เพิ่มปริมาณการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศ โดยการรณรงค์ให้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารภายในประเทศให้มากขึ้น สนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศ ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคแทนการนำเข้า
   2.3 เพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตโดยเฉพาะสินค้าทดแทนการนำเข้า ดำเนินการโดย

  • เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์ ทั้งพืชและสัตว์ การเขตกรรมตามแนวการปฏิบัติที่ดี GAP CoC GMP และมาตรฐานฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สินค้าเกษตรอื่นในประเทศทดแทนการนำเข้า เช่น การนำมันสำปะหลังไปผลิตอาหารสัตว์ การใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานทดแทน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และการใช้พืชสมุนไพรแทนยาปราบศัตรูพืช และปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้า
  • เร่งรัดการวิจัยและพัฒนา ด้านเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
ที่มา: สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร
http://www.oae.go.th/newsinfo/AgroMag/issues/577/section4.2/index.html