โดย ดร. สมชาย ชวนอุดม ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีทั้งพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณของผลผลิตมากที่สุด แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทยคือ ทุ่งกุลาร้องไห้ การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติมีอยู่ 2 วิธี คือ การเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน และการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด ในคอลัมน์นานาสาระฉบับนี้จะกล่าว ถึงเฉพาะในส่วนการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน
การเก็บเกี่ยว โดยแรงงานคนเป็นที่นิยมปฏิบัติกันในพื้นที่ที่ขาดแคลนเครื่องเกี่ยวนวด หรือผู้ ประกอบการไม่นิยมเข้าไปรับจ้างเกี่ยวนวดเนื่องจากสภาพที่นาเป็นแปลงเล็ก มีต้นไม้มากและคันนาใหญ่ เพราะจะทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงส่งผลต่อรายได้ในการรับจ้างที่คิดเป็นแบบเหมาจ่ายต่อไร่ ในการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนจะใช้แรงงานในครอบครัว การลงแขกและหรือการว่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สภาวะหลาย ๆ อย่าง เช่น สภาพข้าว สภาพพื้นที่ สภาพสังคม แรงงานครอบครัว ภาวะเงินสด สภาพอากาศ และหรือการประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเพาะปลูกข้าว เป็นต้น ในขั้นตอนที่ทำให้เกิดความสูญเสียจาก การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยใช้แรงงานคนมีดังนี้
การเกี่ยว เกษตรกรนิยมทำการเก็บเกี่ยวข้าวโดยการใช้เคียวทำการเกี่ยวทีละหลายๆ รวง ซึ่งการเกี่ยวด้วยเคียวมีอยู่ 2 แบบ คือ เกี่ยววางราย โดยส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ใช้กับพื้นที่ นาแห้งหรือนาที่มีน้ำขังไม่มาก โดยเกี่ยวแล้ววางเป็นกองเรียงบนฟางให้ได้มากพอ สำหรับมัดฟ่อน และ การเกี่ยวพันกำ เป็นวิธีที่ใช้กับนาที่มีน้ำขังโดยการเกี่ยวเป็นกำ พร้อมทั้งมือแล้วสุมตากไว้บนตอซัง การเก็บเกี่ยวโดยแรงงานคนจะมีการสูญเสียข้าว ในขั้นตอนนี้ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 60 ของความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวโดยใช้ แรงงานคน เนื่องจากการขาดความระมัดระวังของผู้เกี่ยวสาเหตุอาจเนื่องมาจากเคียว ไม่คม เกี่ยวแรงเกินไป รีบเกี่ยวและหรือเกี่ยวไม่หมด โดยเฉพาะในกรณีของการรับ จ้างเกี่ยว หรือการเก็บเกี่ยวไม่ทันเวลาทำให้เลยช่วงระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมส่งผล ต่อความสูญเสียจากการเกี่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
การตาก เป็นการลดความชื้นของข้าวก่อนการนวด เมื่อเกี่ยวรวมกองแล้วจะทำการตากข้าวในนา โดยการค้างบนตอซังหรือตากบนคันนาหรือพื้นนา แล้วแต่สภาพพื้นที่แปลงนาขณะนั้น ทำการตากแผ่ ประมาณ 2 – 3 แดด หรืออาจจะตากนานถึง 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพข้าว และการ จัดการในการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร การตากแผ่ที่นานเกินไปจะทำให้ข้าวมีการร่วงหล่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉลี่ยมีค่า 0.47 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการลดลงของเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวเนื่องจากในระหว่างการตากแผ่ เมล็ดข้าวเจอสภาพอากาศร้อนและแห้งในเวลากลางวันและสภาพอากาศชื้นจากน้ำค้างในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสภาพอากาศโดยทั่วไปของทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เมล็ดข้าวมีการร้าวภายในเมล็ดเพิ่มขึ้น (สมชาย, 2543)
การมัดฟ่อน เกษตรกรนิยมมัดฟ่อนข้าวในเวลาเช้าตรู่หรืออาจจะก่อนฟ้าสางเพราะฟ่อนข้าวยังมีน้ำค้าง เกาะอยู่ทำให้ฟางข้าวเหนียวเหมาะกับการใช้มัด เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในทุ่งกุลาร้องไห้จะไม่ใช้ ตอกในการมัดฟ่อนแต่จะใช้ต้นข้าวที่ตัดให้ยาวเพื่อการมัดฟ่อนแทน ในการมัดฟ่อนเกษตรกรจะต้อง ยกฟ่อนและหมุนเพื่อมัดปมให้แน่นในระหว่างการหมุนฟ่อนจะทำให้มีเมล็ดถูกเหวี่ยงร่วงออกมา ส่งผลต่อความสูญเสียที่มีเฉลี่ย 0.49 เปอร์เซ็นต์
การขนย้าย เป็นการขนฟ่อนข้าวมารวมกองไว้เพื่อรอการนวด ซึ่งเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มี รถไถเดินตามใช้กันอย่างแพร่หลายส่วนใหญ่จึงใช้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามในการขนฟ่อนข้าวจากแปลง นามารวมกอง ในลักษณะการขนย้ายจะมีทั้งรูปแบบที่ให้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามวิ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วขนฟ่อนข้าวที่อยู่ รอบๆ ขึ้นรถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตาม และรูปแบบที่มีการรวมกองฟ่อนข้าวไว้ก่อนเป็นจุดให้รถบรรทุกพ่วงรถไถเดินตามวิ่งมาขนกองฟ่อนข้าว จากจุดนั้นเพื่อไปรวมฟ่อนข้าวที่ลานรวมฟ่อนรอการนวดต่อไป รูปแบบของการขนย้ายฟ่อนข้าวเหล่านี้เป็นการกระทบกระเทือนฟ่อนข้าวที่แห้ง ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ร่วงง่ายเมื่อสุกแก่ (วินิต และคณะ, 2546) จึงส่งผลให้มีความสูญเสียในส่วนนี้ เกือบ 1 เปอร์เซ็นต์
การนวด เป็นการทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงแล้วทำความสะอาดเพื่อเอาวัสดุที่ไม่ใช่เมล็ดออก ซึ่งมี 2 วิธี หลักๆ คือ การนวดด้วยแรงงานคน โดยเกษตรจะใช้ท่อนไม้ 2 ท่อนผูกเชือกต่อกันเพื่อไว้จับฟ่อนข้าวเมื่อนวดจะใช้ท่อนไม้ดังกล่าวขัดฟ่อนข้าวและ ฟาดฟ่อนข้าวกับแท่นไม้เพื่อให้เมล็ดหลุดออกจากรวง โดยแรงงานที่ใช้จะมีทั้งแรงงานในครอบครัวและการว่าจ้าง และการนวดอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมและปฏิบัติกันแพร่หลายมากที่สุดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้คือการนวดโดยใช้เครื่องนวด โดยเครื่องนวดเกือบทั้งหมดใช้งานในรูปแบบของการรับจ้างนวดโดยคิดค่าจ้างเป็นแบบเหมาจ่ายต่อหน่วยปริมาตรของผลผลิตที่ได้ (วินิต และคณะ, 2541) และการใช้เครื่องนวดทำให้ข้าวหอมมะลิมีความสูญเสียน้อยที่สุดจากทุกขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เพราะว่าเครื่องนวดข้าวที่มีใช้ในประเทศไทยมีสมรรถนะการทำงานที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ
ความสูญเสียจากการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโดยใช้แรงงานคน
- วินิต ชินสุวรรณ, นิพนธ์ ป้องจันทร์, สมชาย ชวนอุดม และวราจิต พยอม. 2546. ผลของอัตราการป้อนและความเร็วลูกนวดที่มีต่อสมรรถนะการนวดของเครื่องนวดข้าวแบบไหลตามแกน. ว.สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย. 10(1):9-14.
- วินิต ชินสุวรรณ, วสุ อุดมเพทายกุล, สมชาย ชวนอุดม, วราจิต พยอม, ณรงค์ ปัญญา, สุชาติ กลิ่นทองหลาง และคณะ. 2543. ระบบการใช้เครื่องจักรกลเกษตรสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลผลิตข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้. รายงานผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- วินิต ชินสุวรรณ, วสุ อุดมเพทายกุล, สมชาย ชวนอุดม, วราจิต พยอม, ณรงค์ ปัญญา, สุชาติ กลิ่นทองหลาง และคณะ. 2542. การศึกษาความสูญเสียจากระบบเก็บเกี่ยวโดยแรงงานคนและความสูญเสียจากการใช้เครื่องเกี่ยวนวด. รายงานผลการศึกษา เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- วินิต ชินสุวรรณ, วสุ อุดมเพทายกุล, สมชาย ชวนอุดม, วราจิต พยอม, ณรงค์ ปัญญา, สุชาติ กลิ่นทองหลาง และคณะ. 2541. สภาพการใช้และความต้องการใช้เครื่องจักรกลเกษตรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้. รายงานผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- สมชาย ชวนอุดม. 2543. การศึกษาความสูญเสียจากระบบการเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโดยแรงงานคนและการเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวด [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร]. ขอนแก่น: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ขอนแก่น.
บทความนี้ ตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2552