สถานที่ประกอบการและอาคารผลิต
สถานที่ตั้งของโรงรมควรจะอยู่ห่างจากชุมนุมชนพอสมควรไม่ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนผู้อาศัยใกล้เคียง มีบริเวณกว้างขวางพอที่จะจัดวางวัตถุดิบและสินค้าเป็นสัดส่วนได้ มีที่จอดรถบรรทุกของเกษตรกรและรถบรรทุกตู้ขนส่งได้อย่างเพียงพอ อาคารผลิตแข็งแรง ส่วนต่าง ๆ ไม่ชำรุด แยกเป็นสัดส่วนชัดเจน ป้องกันน้ำขัง และการปนเปื้อนได้อย่างดีเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในทุกส่วน
1. สถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งของโรงรมควรตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างจากชุมนุมชน ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากกลิ่นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมีการคมนาคมสะดวกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่
2. อาคารผลิต
2.1 อาคารผลิตควรจะมีบริเวณกว้างขวางพอที่จะรับวัตถุดิบและวางสินค้าที่ผ่านการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แล้วรอขนถ่ายสินค้าอย่างน้อย 3 เท่าของพื้นที่ห้องรมที่ใช้งานอยู่
2.2 ตัวอาคารและบริเวณโดยรอบสะอาดไม่ปล่อยให้มีการสะสมสิ่งที่ไม่ใช้แล้วหรือสิ่งปฏิกูลอันอาจเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์และแมลง รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆขึ้นได้
2.3 บริเวณพื้นที่ตั้งตัวอาคารไม่มีน้ำขังแฉะและสกปรก ควรมีท่อระบายน้ำเพื่อให้ไหลลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ
2.4 ควรอยู่ห่างจากบริเวณหรือสถานที่มีฝุ่นมากผิดปกติ โรงรมควรมีรั้วกั้นรอบอาคารเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ต่างๆเข้าไปภายในโรงงาน เช่น สุนัข แมว ไก่ และหนู เป็นต้น ถ้ามีการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ต้องให้อยู่ไกลจากบริเวณผลิต
2.5 อาคารของโรงรมควรจัดแบ่งพื้นที่ใช้งานให้ชัดเจน และป้องกันมิให้มีการก้าวก่ายพื้นที่กัน เช่น พื้นที่สำนักงาน พื้นที่รับวัตถุดิบ พื้นที่เตรียม สินค้าเข้าห้องรม พื้นที่วางสินค้าผ่านการรมแล้ว เป่าลมไล่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ห้องเก็บสินค้ารอขนส่งส่วนจอดรถขนถ่ายสินค้าและวัตถุดิบห้องเก็บภาชนะบรรจุ ห้องเก็บสารเคมี ห้องเก็บวัสดุอื่นๆ เช่น เครื่องชั่ง ถาดเผา ฉลาก เป็นต้น
2.6 พื้น ฝาพนัง และหลังคาของอาคารสถานที่ผลิตต้องก่อสร้างด้วยวัสดุที่คงทน ทำความสะอาด และซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา
2.7 จัดให้มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในบริเวณผลิต
2.8 ห้องพักคนงานไม่ควรจะอยู่บนห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของคนงาน
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. สถานที่จัดเก็บวัสดุ ภาชนะ อุปกรณ์ หรือสารเคมีต่างๆจะต้องไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนหรือเป็นแหล่งทำให้เกิดการปนเปื้อนมีการ แยกให้ชัดเจน
2. ห้องเก็บตะกร้าจะต้องเป็นสัดส่วน ไม่มีการปนเปื้อนจากภายนอกและตะกร้าจะต้องทำความสะอาดก่อนนำไปใช้งาน
3. ตะกร้าที่บรรจุลำไยจะต้องสะอาด
4. เครื่องชั่งที่ใช้งานจะต้องพอเหมาะกับน้ำหนักที่ใช้ชั่ง เครื่องชั่ง กำมะถันไม่ควรชั่งน้ำหนักสูงสุดเกิน 5 กิโลกรัม
ห้องรม
1. โครงสร้างของห้องรมควัน
1.1 ผนังห้อง : พื้นผิวหนังเรียบละเอียดไม่มีรอยร้าว วัสดุที่เหมาะสมในการทำผนังห้องรมควันควรเป็นวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อน และป้องกันการดูดซึมก๊าซได้ดี ได้แก่ คอนกรีตฉาบมัน/ทาสี
1.2 เพดาน : ต้องมีสภาพแน่นหนา พื้นผิวเรียบ ก๊าซรั่วซึมไม่ได้
1.3 พื้นห้อง : พื้นห้องสะอาดไม่มีรอยแตกของปูนและไม่เปียกชื้น พื้นห้องควรจะเป็นคอนกรีตเคลือบมัน
1.4 ประตู : ต้องป้องกันการรั่วของก๊าซได้ดีมาก วัสดุที่ใช้ ได้แก่ สแตนเลสสตีล ไม้อัด โฟเมก้า
1.5 การป้องกันรอยรั่วที่ประตูและแนวต่อต่างๆ : ป้องกันการรั่วของก๊าซได้ดี วัสดุที่ใช้ควรเป็นยางประตูห้องเย็น และซิลิโคน เทปกาว หรือวัสดุคงทนอุดตามแนวต่อต่างๆ
1.6 ถ้ามีหน้าต่างมองภายในห้องรมควัน : ต้องไม่ชำรุด และใสสะอาด สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในห้องรมควันได้ชัดเจน
2. เครื่องมือ/ อุปกรณ์ภายในห้องรมควัน
2.1 หลอดไฟฟ้าภายในห้องรมควัน : ให้แสงสว่างทั่วทั้งห้อง
2.2 ปลั๊กไฟและสายไฟฟ้า : อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวก ทนความร้อนและมีสภาพสมบูรณ์ดี
2.3 เตาไฟฟ้าหรือเตาเผา : สภาพสมบูรณ์ ใช้งานได้ดี (ในกรณีเผากำมะถันในห้องรม)
2.4 อุปกรณ์ป้องกันเปลวไฟ : ป้องกันเปลวไฟและทนความร้อนได้ดี
2.5 พัดลมกวน/ท่อกวน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ภายใน : ใช้งานได้ดี สภาพสมบูรณ์อยู่ในตำแหน่งที่ให้กระแสลมทั่วทั้งห้อง
2.6 ฝาปิดท่อดูดก๊าซที่เหลือจากการรม : จะต้องไม่ชำรุด
3. เครื่องมือ/อุปกรณ์นอกห้องรมควัน
3.1 พัดลมดูดอากาศ : สภาพสมบูรณ์ ใช้งานได้ดี
3.2 ท่อดูดอากาศ : สภาพสมบูรณ์ดี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง อยู่ระหว่าง 6-12 นิ้ว
3.3 เตาไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์เผากำมะถัน ต้องไม่ชำรุดสามารถใช้งานได้ดี
3.4 มีช่องกระจก สังเกตการเผาไหม้กำมะถัน
หอกำจัดก๊าซ
1. ท่อดูดก๊าซที่เหลือจากห้องรมไปหอกำจัดก๊าซจะต้องสมบูรณ์ไม่ชำรุด
2. พัดลมดูดก๊าซที่เหลือจากห้องรม จะต้องมีแรงเพียงพอในการบำบัด
ก๊าซที่เหลือ
3. ต้องมีหัวพ่นน้ำ กระจายละอองน้ำ และช่องมองตรวจสอบการ
ทำงานได้
4. มีถังปูนขาวพร้อมระบบการกวนน้ำปูนและถังดักตะกอน
5. น้ำใช้ในการบำบัดสามารถใช้ระบบหมุนเวียนได้ มีการเปลี่ยนน้ำและ
ต้องเติมปูนขาวตามเวลาเหมาะสม
6. ปั๊มน้ำจะต้องมีแรงเพียงพอ
ระบบการผลิต
1. ขั้นตอนการรม
1.1 ผู้ประกอบการโรงรมจะต้องจัดทำแผนผังขั้นตอนการรมของโรงรม ที่มีขนาดเห็นได้ชัดเจนติดไว้ในที่เห็นได้ชัดเจน ด้านหน้าของห้องรมหรือหน้า ห้องสำนักงาน
1.2 ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ต้องควบคุมอย่างถูกต้องตามรายละเอียดทุกขั้นตอน (ดูภาคผนวก)
2. กระบวนการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
2.1 ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำกระบวนการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลำไยสด โดยผู้ชำนาญการ และเขียนเป็นวิธีปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน รายละเอียดต้องประกอบด้วย
– การจัดการด้านวัตถุดิบ
– ขนาดและโครงสร้างของห้อง
– ระบบการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์
– ระบบการหมุนเวียนอากาศ
– ระบบการกำจัดก๊าซ
– ขนาดตะกร้า การเรียงลำไยในตะกร้าและการวางตะกร้าในห้องรม
– ปริมาณกำมะถันที่ใช้ ระยะเวลาเผากำมะถัน ระยะเวลารม ระยะเวลากำจัดก๊าซ
– การหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในห้องเปล่า เพื่อทดสอบการรั่วของห้อง การหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในห้องมีลำไยจำนวนต่างๆเพื่อทดสอบความสม่ำเสมอของการกระจายก๊าซ2.2 ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด และถูกต้อง
2.3 ผู้ปฏิบัติงานต้องบันทึกข้อมูลการรมควันในส่วนที่เป็นจุดวิกฤต เพื่อการทวนสอบกลับได้ จะต้องประกอบด้วย
– บันทึกการตรวจรับวัตถุดิบ และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
– บันทึกการตรวจสอบอุปกรณ์ห้องรมและระบบบำบัดก๊าซ
– บันทึกผลการรมควันและบำบัดก๊าซ
– บันทึกควบคุมคุณภาพสินค้าโดยการทวนสอบ3. ระบบการกำจัดก๊าซ
3.1 ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำกระบวนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เหลือจากการรม โดยผู้ชำนาญการและเขียนเป็นวิธีปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน ในรายละเอียดต้องประกอบด้วย
– วิธีการกำจัดก๊าซ
– ถังพักน้ำ หอพ่นน้ำ และหัวพ่นน้ำ
– ขนาดมอเตอร์ต่างๆ
– ขนาดท่อต่างๆ
– การใช้ปูนขาวหรือวิธีอื่น การถ่าย/เปลี่ยนน้ำ3.2 ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด
สุขลักษณะส่วนบุคคล
– ต้องจัดทำห้องน้ำ ห้องสุขาแยกเป็นสัดส่วนจากส่วนผลิตและมีจำนวนเพียงพอกับผู้ปฏิบัติงาน
– ผู้ปฏิบัติงานควรมีจุดสังเกตให้แตกต่างจากผู้ส่งวัตถุดิบในบริเวณลานรับวัตถุดิบ
– ผู้ปฏิบัติงานของโรงรมในส่วนอื่นควรจะมีจุดสังเกตให้ชัดเจนว่าปฏิบัติงานในส่วนใด
– ผู้ที่ปฏิบัติงานต้องไม่เจ็บป่วยหรือเป็นพาหะนำโรค
– ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรสูบบุหรี่ ถ่มน้ำลายในพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้ประกอบการควรจัดหาอุปกรณ์ ป้องกันอันตรายให้พนักงานใช้และพนักงานจะต้องปฏิบัติตาม
ตู้ขนส่ง
ตู้ขนส่งต้องสะอาด ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน ควบคุมอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ และมีการบันทึกตลอดระยะเวลาขนส่ง การบรรจุสินค้าในตู้ ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าหรือการปนเปื้อนในภายหลัง
ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า
1. ผู้ประกอบการจะต้องแสดงรายละเอียดสินค้าเป็นไปตามข้อตกลงกับลูกค้า และตรงกับความเป็นจริงที่ผลิตในฉลากที่สำคัญ ภาชนะบรรจุสินค้าอย่างน้อยต้องระบุถึง ชื่อผู้ส่งออก ชื่อสถานที่ ชื่อสินค้า เกรดสินค้าและรุ่นการผลิต อาจระบุถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในลักษณะบาร์โค้ด
2.ในกรณีมีกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับใดๆ นอกเหนือจากข้อ 1 ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม
การฝึกอบรม
ผู้ปฏิบัติงานในโรงรมทุกระดับควรทราบถึง หน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทราบถึงหลักการและรายละเอียดในการรม โดย ผ่านการฝึกอบรมโดยหน่วยงานภายนอก หรืออบรมภายในโรงรม หรือมีประสบการณ์จากที่อื่นมาอย่างดี
การเก็บบันทึกข้อมูลและการตรวจสอบภายใน
1. ต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ เข้าแฟ้มอย่างมีระเบียบและค้นหาได้ง่าย
2. การเก็บบันทึก ข้อมูลที่เก็บจะต้องครบตามที่ผู้ชำนาญการกำหนด และข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เช่น ผลการวิเคราะห์ SO2 ตกค้าง
3. บันทึกต่างๆ ต้องมีการบันทึกอย่างถูกต้อง มีลายเซ็นผู้ปฏิบัติงานผู้ควบคุม
4. มีการจัดการควบคุมตรวจสอบภายในอย่างเป็นระบบ พร้อมผู้ดูแลรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ชัดเจน
ที่มา: สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์