โดย… นายพิเชษฐ์ น้อยมณี นักวิชาการ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP
ในการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP แบบรายเดี่ยว (option 1) ผู้ที่ขอการรับรองจะดำเนินการตามเอกสารจุดควบคุม และเกณฑ์การพิจารณา (Control Point and Compliance Criteria; CPCC) ตามข้อกำหนด 236 ข้อ และเอกสารรายการตรวจตามจุดควบคุมและเกณฑ์การพิจารณา (Checklist CPCC) เท่านั้น การขอการรับรองดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างไปจากการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP แบบ กลุ่ม (option 2) ที่จะต้องดำเนินการตามเอกสารทั้ง 3 ส่วนด้วยกัน โดยบริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตที่ขอการรับรองระบบมาตรฐานในแบบ option 2 จะต้องมี ระบบการบริหารจัดการคุณภาพ (Quality Management System; QMS) มีโครงสร้างการบริหารงานแบบกลุ่มที่เป็นนิติบุคคล มีระบบการบริหารจัดการตามระบบมาตรฐาน GlobalGAP กำหนดซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อกำหนด 11 ข้อ ได้แก่
- การควบคุมและดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ (Worker Health Safety and Welfare)
- การควบคุมเอกสารและการจัดเก็บเอกสาร (Document control and Management)
- การจัดการของเสียมลภาวะและการนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste and Pollution Management and Recycle)
- การจัดการข้อร้องเรียน (Complain)
- การจัดการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment and conservation)
- การจัดการสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด (Non-Conformity)
- การจัดจ้างและการควบคุมงานภายนอก (Sub-Contractor)
- การตรวจติดตามภายใน (Internal self-assessment/internal inspection)
- การตรวจสอบย้อนกลับ การบ่งชี้ และการแยกผลิตผล (Traceability Specify and Sort Out products)
- การพัฒนาความสามารถและการฝึกอบรม (Training)
- การเรียกคืน การถอดถอนสินค้าที่ได้รับรอง (Recall Reject Product Certify)
นอกจากนั้น บริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ฟาร์มให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐานกำหนดไว้ เช่น การปรับปรุงห้องเก็บปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช ที่พักคนงาน จุดทิ้งขยะแยกประเภท ป้ายเตือนต่างๆ หลุมกำจัดสารกำจัดศัตรุพืชและบรรจุภัณฑ์เคมี จุดผสมสาร ที่ล้างมือ ห้องน้ำ บันทึกต่างๆ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขณะฉีดพ่น เป็นต้น เพราะผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน (Certification Bodies; CBs) จะทำการสุ่มตรวจสมาชิกของบริษัทหรือกลุ่มผู้ผลิตคิดเป็นรากที่สองของสมาชิกทั้งหมด หากพบข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐาน จะต้องทำการแก้ไขสิ่งที่ไม่ สอดคล้อง (Corrective Action Request; CAR) ภายในเวลา 28 วันหลังการตรวจประเมินก่อนที่จะได้รับการรับรองและใบรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP จากผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน
การพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้ตามระบบมาตรฐาน GlobalGAP ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากกว่าคู่แข่งที่อยู่ในตลาด สหภาพยุโรปด้วยกัน ทั่วทุกมุมโลกได้เร่งพัฒนาให้มีการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ราย ในปี 2547 เป็นมากกว่า 90,000 ราย ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการไม่เกิน 100 ราย ที่ผ่านการตรวจรับรองระบบมาตรฐานดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ซัพพลายเออร์ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจอาหาร เช่น อีออน เทสโก้ แมคโดนัลด์ และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ในตลาดต่างประเทศเห็นได้ว่าทุกประเทศทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจต่อการปรับตัวด้านการผลิตสู่ระบบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อชิงความได้เปรียบและส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสหภาพยุโรปนี้
อย่างไรก็ตาม หากผลิตผลไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปหรือในตลาดต่างประเทศไม่เร่งผลักดันการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน กระบวนการผลิตผลิตผลเกษตรตั้งแต่ในฟาร์มจนกระทั่งโรงคัดบรรจุให้ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐานกำหนดไว้ ผลิตผลไทยจะไม่สามารถปรับตัวต่อการแข่งขันและชิงความได้เปรียบทางด้านการตลาดในตลาดแห่งนี้ได้เลย ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ส่งผลิตผลเข้าตลาดสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน กาต้า หรือเวียดนามนั้น ได้เร่งพัฒนาและผลักดันกระบวนการผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐานของยุโรป ซึ่งมาตรฐาน GlobalGAP เปิดโอกาสให้มีการเทียบเคียงกับมาตรฐานของประเทศอื่นด้วย (Benchmarking) หากเทียบเคียงมาตรฐานได้สำเร็จจะสามารถใช้มาตรฐาน GAP ของประเทศอื่น ในการรับรองสินค้าและส่งสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้าปลีกในสหภาพยุโรปได้เช่นกัน ปัจจุบัน JGAP ของญี่ปุ่น ชิลี (ChileGAP) จีน (ChinaGAP) และ บราซิล (TRIPLO A) ได้เทียบเคียงกับมาตรฐานกับ GlobalGAP เป็น ที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ภาคเอกชนไทยได้จัดทำระบบมาตรฐาน ThaiGAP ขึ้นและกำลังเทียบเคียงระบบมาตรฐานดังกล่าวกับระบบมาตรฐาน GlobalGAP อันจะเป็นการช่วยขยายโอกาสผลิตผลไทย ในตลาดยุโรป และช่วยลดอุปสรรคด้านการสื่อสาร ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการและผู้ผลิตของไทยในการขอรับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP อีกทั้ง หน่วยงานภาคการศึกษาและวิจัยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ และพร้อมทั้งสร้างตัวแทนที่ปรึกษา หรือบัณฑิตในระดับอุดมศึกษาให้มีความรู้และความเข้าใจในระบบมาตรฐานเพิ่ม มากขึ้น ให้เป็นขุมกำลังสำคัญในการนำองค์ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนและกลุ่มผู้ผลิตให้มีความสามารถในการดูแลและจัดการระบบมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดปัจจุบัน
เพื่อผลักดันและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกผลิตผลทางเกษตรไทยสู่ตลาดสหภาพยุโรป สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการระบบมาตรฐานเพื่อการส่งออก เช่น ระบบมาตรฐาน GAP ระบบมาตรฐาน GlobalGAP ระบบมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมถึงระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) อีกทั้ง มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานและคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ โดยที่ผ่านมานั้น สถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาด้านการจัดทำระบบมาตรฐาน GlobalGAP การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานฟาร์มให้สอดคล้องกับระบบมาตรฐานแก่บริษัทส่งออกและกลุ่มผู้ผลิตจนได้รับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP จากผู้ตรวจรับรองระบบมาตรฐาน (CBs) เช่น บริษัท สกายเท็ค จำกัด บริษัท 3F จำกัด กลุ่มวิสหกิจชุมชนอุตสาหกรรมลำไยเพื่อการส่งออก จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์ส้มโอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นต้น พร้อมทั้งถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ของระบบมาตรฐาน GlobalGAP ด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและสาธิตการทำระบบมาตรฐาน ทำให้ผู้ที่ได้รับอบรมเกิดความเข้าใจถึงการดำเนินงานตามมาตรฐานอย่างแท้จริง เพื่อสร้างความยั่งยืน สถาบันวิจัยฯ ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายที่ปรึกษาของระบบมาตรฐานโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge Transfer) ที่มีให้แก่บุคลากรตัวแทนความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาลำปาง บริษัท 3 F จำกัด บริษัท ฮะเองอินเตอร์เฟรช จำกัด เป็นต้น ให้เกิดความเข้าใจสามารถถ่ายทอดและขยายงานในการจัดทำระบบมาตรฐาน GlobalGAP ต่อไปซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการคลีนิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนงบประมาณนอกจากนั้น ได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยเช่นกัน สนใจการจัดการระบบ มาตรฐาน GlobalGAP สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 เบอร์โทร 053-944031 และหมายเลข โทรสาร 053-941426 เว็บไซด์ postharvest.cmu.ac.th
เอกสารอ้างอิง
– เอกสาร General regulations integrated farm assurance Version 3.1 Nov 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) All farm base Version 3.0-2_Sep 07
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Crops base Version 3.0-3_Feb 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Fruit and vegetables Version 3.0-2_Sep 07 www.globalgap.org