โดย … รศ.ดร. สมศิริ แสงโชติ
ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
โรคแอนแทรคโนส ของมะม่วงเป็นโรคที่พบว่าเป็นปัญหากับผลมะม่วงสุกที่ส่งออกหรือบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับมะม่วงทานดิบ เนื่องจากเชื้อราที่เข้าทำลายผลมะม่วงจะไม่แสดงอาการในระยะผลดิบ โดยเชื้อจะแฝงอยู่ในเปลือกของผลมะม่วง ซึ่งผลจะมีโอกาสได้รับเชื้อในระยะเวลา 12-13 สัปดาห์ของการพัฒนาของผลมะม่วงจนถึงระยะผลแก่เต็มที่ โดยมีแหล่งใหญ่ของเชื้อมาจากใบที่เป็นโรค เชื้อจะแพร่มายังผลโดยอาศัยลมและฝน ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยง การให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอยไปที่ใบ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปยังผลมะม่วงได้มากขึ้น
ในลำดับแรกของการลดเชื้อที่จะมาเข้าทำลายผล ทำได้โดยการลดเชื้อที่ใบให้เหลือน้อยที่สุด โดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ โปรคลอราช เป็นระยะเวลา 15 วัน/ครั้ง จำนวน 2 ครั้งในระยะแตกใบอ่อนซึ่งเป็นระยะที่อ่อนแอ เป็นโรคได้ง่าย และเมื่อใบเจริญเต็มที่ก็จะต้านทานต่อเชื้อโดยจะไม่แสดงอาการของโรค ทำให้ลดแหล่งของเชื้อที่สำคัญลง
ก่อนห่อผลควรฉีดพ่นด้วย คาร์เบนดาซิมเพื่อลดการเข้าทำลายแฝงของเชื้อที่อาจมีอยู่ก่อนโดยเริ่มห่อผลในระยะ 45-60 วัน ซึ่งถุงห่อจะช่วยป้องกันการติดเชื้อของผลที่จะเกิดขึ้นใหม่ ในการเก็บเกี่ยวผลมะม่วงในระยะที่แก่เต็มที่ควรเก็บเกี่ยวโดยให้มีขั้วติดที่ผล เพื่อป้องกันการเข้าทำลายที่เกิดจากแผลบริเวณขั้ว เมื่อนำมาถึงโรงบรรจุหีบห่อ จึงแกะถุงห่อออกและเด็ดขั้ว สะเด็ดยางโดยการคว่ำขั้วผลลงบนกระดาษที่สะอาด
เมื่อผลมะม่วงสะเด็ดยางแล้วจึงนำไปจุ่มลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 52-55 องศาเซลเซียส เวลา 5 นาที (น้ำดอกไม้สีทองใช้ได้กับอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส) แล้วจึงนำมาผ่านน้ำเย็นทันทีเพื่อลดอุณหภูมิ หลังจากนั้นผึ่งผลให้แห้ง จึงบรรจุลงในกล่องที่สะอาดเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป หรืออาจจุ่มในสารเคมีโปรคลอราช 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โดยจุ่มแล้วยก ผึ่งไว้ให้แห้ง จึงบรรจุเพื่อจำหน่ายต่อไป โดยในกระบวนการจุ่มน้ำร้อนหรือจุ่มสารเคมีนี้ควรทำภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง หลังจากเก็บผลมะม่วง