การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ในประเทศไทย

โดย … ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสรี วงส์พิเชษฐ และ นายพิศาล หมื่นแก้ว
กลุ่มวิจัย Postharvest Machinery ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย จากข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2552 เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังเพื่อการจำหน่ายมีจำนวนถึง 512,601 ครัวเรือน ได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดประมาณ 30 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 5.7 หมื่นล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2553) มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายประเภท เช่น มันเส้น มันอัดเม็ด หรือ ผลิตภัณฑ์แป้งมัน เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมกระดาษ และอื่นๆ

มันสำปะหลังที่ปลูกในแหล่งปลูกทั่วโลกและในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดหวาน (Sweet type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคต่ำ ไม่มีรสขม ใช้เพื่อการบริโภคสำหรับมนุษย์มีทั้งชนิดเนื้อร่วนนุ่มและชนิดเนื้อแน่นเหนียวในประเทศไทยไม่มีการปลูกมันสำปะหลังชนิดนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ เนื่องจากมีตลาดจำกัดส่วนใหญ่จะปลูกตามครัวเรือนหรือตามร่องสวนเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นในปริมาณไม่มากนัก ส่วนมันสำปะหลังอีกชนิดหนึ่งคือ ชนิดขม (Bitter type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคสูงกว่าชนิดแรก แม้มันสำปะหลังจะมีพิษ แต่ในระหว่างการทำเป็นมันเส้นมีการปลอกเปลือก การหั่นชิ้นและการผึ่งแดดชิ้นมันฯ หรือให้ความร้อนที่ 150 องศาเซลเซียส ทำให้กรดดังกล่าวระเหยออกสู่บรรยากาศ ปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 30 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ และถ้าเก็บมันเส้นไว้ในระยะเวลาหนึ่งปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคก็ยิ่งจะลดปริมาณลง กรดไฮโดรไซยานิคจะสลายไป (สุกัญญา จัตตุพรพงษ์, 2530) สามารถใช้เป็นวัตถุดิบ ผลิตอาหารได้ นิยมใช้สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ เช่น แป้งมัน มันอัดเม็ด แอลกอฮอล์ เนื่องจากมีปริมาณแป้งที่สูง

ในปัจจุบันมีพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำและได้รับความนิยม เพาะปลูกจากเกษตรกร เช่น พันธุ์ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 5 ระยอง 60 ระยอง 90 ศรีราชา 1 เกษตรศาสตร์ 50 เป็นต้น

ในการผลิตมันสำปะหลังมีหลายขั้นตอน ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ต้องใช้แรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตค่อนข้างมาก

การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

มันสำปะหลังมีความแตกต่างจากพืชไร่ชนิดอื่นในเรื่องของอายุเก็บเกี่ยวที่ไม่ตายตัว (เจริญศักดิ์, 2519) ซึ่งการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง สามารถแบ่งได้ 5 ระยะ คือ

  • 1.  ระยะท่อนพันธุ์งอกและตั้งตัวอยู่ในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากการปลูก
  • 2.  ระยะพัฒนาทรงพุ่ม เป็นระยะที่เริ่มแตกกิ่งก้านและสร้างใบ เริ่มตั้งแต่เดือนที่ 2
  • 3.  ระยะพัฒนารากและสะสมอาหาร เริ่มตั้งแต่เดือนที่ 3 เป็นต้นไป
  • 4.  ระยะพักตัว เป็นช่วงที่มันสำปะหลังชะงักการเจริญเติบโตและมีการทิ้งใบ หลังจากเดือนที่ 14
  • 5.  ระยะฟื้นตัว มันสำปะหลังจะเริ่มนำสารอาหารที่สะสม มาสร้างใบใหม่

ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวจะอยู่ในระยะที่ 4 ช่วงอายุเดือนที่ 10 – 14 และมีปริมาณแป้งประมาณ 15 – 40% แต่โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวเมื่อมันสำปะหลังมีอายุได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอาจแตกต่างไปจากนี้ได้ เนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความต้องการใช้เงินของเกษตรกร ราคามันสำปะหลัง ฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งโรงงานจะรับซื้อหัวมันสำปะหลังที่มีเปอรเซ็นต์แป้งประมาณ 30% (กรมวิชาการเกษตร, 2537)

วิธีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังโดยทั่วไป ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ การขุด การตัดเหง้า และการขนย้ายหัวมันสำปะหลังสด ขึ้นรถบรรทุกที่จอดรอในแปลง เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ เกษตรกรต้องเร่งนำหัวมันสำปะหลังสดส่งโรงงานแปรรูปโดยทันทีและหรือในสภาพวันต่อวันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเสื่อมสภาพของหัวมันสำปะหลังสด เนื่องมาจากการที่หัวมันสำปะหลังสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบร้อยละ 60 ถึง 65 โดยน้ำหนัก จึงทำให้มีอัตราการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทย การเสื่อมสภาพของหัวมันสำปะหลังจะปรากฏภายใน 1-3 วัน หลังการเก็บเกี่ยว และเกิดการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ทำให้เน่าเสียภายใน 5 – 7 วัน (Rickard and Gahan, 1983) สีของเนื้อมันสำปะหลัง จะเปลี่ยนแปลงและเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลังจะลดลงส่งผลกระทบต่อราคาขาย (กรมวิชาการเกษตร, 2537)

ในช่วงที่ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เกษตรกรใช้แรงงานคนในการทำกิจกรรมหลัก ทั้งสาม คือ ขุดมันสำปะหลังด้วยจอบหรือถอนขึ้นจากดินด้วยอุปกรณ์ช่วยงัดต้น จากนั้นจึงตัดหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้าด้วยมีดพร้า แล้วจึงรวบรวมหัวมันสำปะหลังสดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแปลงใส่เข่ง และแบกขึ้นไปรวมกองบนรถบรรทุก แต่เมื่อสภาวะขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรจึงพยายามพัฒนาวิธีการเก็บเกี่ยวให้สามารถเก็บเกี่ยวได้รวดเร็วขึ้นภายใต้สภาวะที่มีแรงงานลดลง ทั้งนี้เพื่อให้มีผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยวในแต่ละวันเต็มรถบรรทุก อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ต้องใช้วิธีรวบรวมผลผลิตหัวมันสดประมาณ 2 ถึง 3 วัน ก่อนขนส่งไปยังแหล่งรับซื้อ แม้ว่าเกษตรกรรายย่อย โดยทั่วไปจะมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเพียง 1 ถึง 20 ไร่ต่อครัวเรือน (กรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน, 2548) เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ต้องใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก จึงมีอัตราการเก็บเกี่ยวช้า และต้องรอรวบรวมผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดให้เต็มรถบรรทุกเพื่อประหยัดค่าขนส่ง

สำหรับวิธีดำเนินการเก็บเกี่ยวในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากวิธีดำเนินการเก็บเกี่ยว แบบดั้งเดิมมีสองส่วนคือ

  • 1. วิธีการดำเนินการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิมซึ่งใช้แรงงานคนในการดำเนินการทุกกิจกรรม ทั้งการขุด การตัดเหง้าและการขนย้ายหัวมันสดขึ้นรถบรรทุก โดยวิธีการดั้งเดิมไม่มีการแยกกิจกรรมรวมกองออกมาโดยเด่นชัด แต่ทำกิจกรรมนี้ร่วมกับกิจกรรมตัดเหง้า และกิจกรรมขนย้ายขึ้นรถบรรทุก ต่อมาเกษตรกรบางส่วนพบว่า ถ้าทำการรวมกองหัวมันสำปะหลังหลังการขุดก่อนที่จะทำการตัดเหง้าจะช่วยลดเวลาการเก็บเกี่ยว และยังส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดการแยกกิจกรรมการรวมกองเหง้ามันสำปะหลังออกจากการตัดเหง้าและการขนย้าย
  • 2. เนื่องจากวิธีการขุดหรือถอนต้นมันสำปะหลังด้วยแรงงานคน ต้องใช้แรงงานคนและกำลังงานมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีอัตราการเก็บเกี่ยวล่าช้า ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และต้องรอรวบรวมผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดให้เต็มรถบรรทุก ซึ่งมีปัญหาการเสื่อมสภาพของผลผลิต เกษตรกรจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่จึงหันมาใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังซึ่งใช้แทรกเตอร์เป็นต้นกำลังเพื่อทำการ ขุดมันสำปะหลังขึ้นมาจากดิน แทนวิธีการขุดด้วยแรงงานแบบเดิม (เสรี และสมนึก, 2548)

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า วิธีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติในปัจจุบันสามารถจำแนกออกเป็น 4 กิจกรรม คือ การขุดมันสำปะหลังด้วยเครื่องขุดมันสำปะหลัง การรวมกอง การตัดเหง้า และการขนย้ายขึ้นรถบรรทุกที่จอดรอในแปลง (ภาพที่ 1) ซึ่งสามกิจกรรมหลังยังคงใช้แรงงานคน ตามวิธีการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิม

เอกสารอ้างอิง

  • กรมวิชาการเกษตร. 2537. มันสำปะหลัง.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • กรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน. 2548. การใช้เทคโนโลยีรีโมทเซนซิ่งและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อประเมินผลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2546. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • จำลอง เจียมจำนรรจา. 2542. การจัดการวัชพืชในไร่มันสำปะหลัง. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  • เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์. 2519. มันสำปะหลัง. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  • เสรี วงพิเชษฐ และสมนึก ชูศิลป์. 2548. รายงานการวิจัย: การพัฒนากระบวนการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังด้วยเครื่องขุดมันสำปะหลัง. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • สุกัญญา จัตตุพรพงษ์.การตรวจสอบวัตถุดิบอาหารสัตว์, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2530
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2553. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2552. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • Rickard, J. E. and Gahan, P. B. (1983). The development of occlusions in cassava (Manihot esculenta Crantz.) root xylem vessels. Annals of Botany 52: 811-821 [online]. Available: http://aob.oxfordjournals.org/cgi/content/abstract/52/6/811