โดย … ผศ.ดร.ดลฤดี ใจสุทธิ์ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการสหกรณ์การเกษตรของประเทศญี่ปุ่น Japan Agricultural Cooperative หรือ JA ณ เมืองทสึคุบะ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้อธิบายความเป็นมาและลักษณะการดำเนินงานของสหกรณ์ว่า สหกรณ์นี้เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก รายได้ของสหกรณ์มาจากกำไรจากการขายผลิตผล ซึ่งจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าแรง ค่าน้ำ และ ค่าไฟ เป็นต้น สหกรณ์มีหน้าที่ประสานงานกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกว่าต้องการผลิตผลชนิดไหนในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อและราคาขายผลิตผลด้วย ทั้งนี้ราคารับซื้อและราคาขายจะถูกกำหนดโดยกรรมการของสหกรณ์ซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกของสหกรณ์เอง ในการขายผลิตผลเกษตรของญี่ปุ่นจะแบ่งเป็นโซน เช่น ผลิตผลที่มาจาก JA ณ เมืองทสึคุบะ จะถูกส่งไปขายยังเมืองโตเกียว และนาโกย่า เป็นต้น ดังนั้นการค้าขายผลิตผลเกษตรของญี่ปุ่นจึงมักจะไม่ประสบปัญหาด้านราคาและผลิตผลล้นตลาด
โดยจะขอยกตัวอย่างกระบวนการดำเนินงานของ JA ในการรับซื้อมะเขือเทศจากเกษตรกรสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทาง JA จะตกลงกับเกษตรกรสมาชิกในกลุ่มว่าต้องการให้ปลูกมะเขือเทศพันธุ์ใด เช่น มะเขือเทศพันธุ์โมโมทาโร โดยอ้างอิงจากความต้องการของตลาดที่จะรับซื้อเป็นหลัก การปลูกมะเขือเทศที่เมืองทสึคุบะ จะปลูกในโรงเรือนแบบปิด หรือที่เรียกว่า Green House ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้สําหรับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว ประกอบด้วยโครงสร้างหลังคาและผนังปิดที่ทำด้วยวัสดุที่โปร่งแสง ซึ่งสมบัติของวัสดุดังกล่าวจะทำให้อุณหภูมิภายในและภายนอกโรงเรือนแตกต่างกัน กล่าวคือเมื่อรังสีดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นสเปกตรัม (รังสีคลื่นสั้นและรังสีคลื่นยาว) ตกกระทบหลังคาและผนังโรงเรือนที่เป็นกระจกหรือวัสดุโปร่งแสง รังสีคลื่นสั้น (300-3000 nm) จะสามารถแผ่รังสีทะลุผ่านเข้าไปข้างในโรงเรือนได้ ขณะที่รังสีคลื่นยาว (3000-80,000 nm) จะถูกกั้นด้วยกระจก รังสีคลื่นสั้นที่ผ่านเข้ามานั้นจะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนซึ่งมีสมบัติเป็นรังสีคลื่นยาวที่ไม่สามารถทะลุผ่านกระจกออกไปได้ ดังนั้นจึงทําให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมภายในโรงเรือน ทําให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงขึ้นมากกว่าอากาศแวดล้อม แต่ในเวลากลางวันหากอุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงเกินไปจะทำให้พืชคายน้ำมาก จึงอาจมีระบบปรับลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน (Hessayon, 2008) ดังแสดงในรูปที่ 1 การใช้ Green House นอกจากจะสามารถควบคุมเรื่องสภาพอากาศแล้ว ยังสามารถควบคุมเรื่องแมลงศัตรูพืชและโรคพืชได้อีกด้วย วงจรในการปลูกมะเขือเทศจะใช้ระยะเวลาประมาณ 85 – 90 วัน นับจากวันที่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลิตผล
จากนั้นจะส่งผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้วมายัง JA ดังรูปที่ 2 และจัดวางผลิตผลลงตะกร้าพลาสติก แล้วลำเลียงเข้าสู่ระบบตรวจสอบคุณภาพและคัดขนาด โดยใช้เครื่องจักรเป็นตัวยกตะกร้าที่บรรจุมะเขือเทศขึ้นสู่ระบบตรวจสอบคุณภาพและคัดขนาดด้านบน และใช้รางลำเลียงตะกร้าเปล่าจากด้านบนลงสู่ด้านล่างดังแสดงในรูป ทั้งนี้ ในการตรวจสอบคุณภาพและคัดขนาดของผลมะเขือเทศจะใช้หลักการวิเคราะห์ภาพถ่าย (Image Analysis) โดยผลมะเขือเทศจะถูกลำเลียงเข้าสู่ถาดลำเลียงและผ่านเข้าเครื่องวิเคราะห์ภาพถ่ายครั้งละ 1 ผล ดังแสดงในรูปที่ 3 สำหรับหลักการวิเคราะห์ภาพถ่ายมีขั้นตอนคือ ถ่ายภาพผลิตผลด้วยกล้องดิจิตอลแล้วนำไปประมวลผลด้วยวิธี Image processing กล่าวคือ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลหรือคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในเชิงคุณภาพ โดยการประมวลผลจะรวมเอาการหาความสัมพันธ์ของ รูปร่าง ขนาด และรอยตําหนิของผลมะเขือเทศไปกำหนดเป็นตัวแปรคุณภาพ ส่วนตัวแปรทางกายภาพที่ใช้ระบุรูปร่าง ได้แก่ อัตราส่วนเส้นรอบวงกลมล้อมรอบผลมะเขือเทศ สีของผลมะเขือเทศ และตัวแปรจําแนกขนาดได้แก่ความยาวเส้นรอบรูปและพื้นที่ภาพฉายของผลมะเขือเทศ สำหรับอุปกรณ์คัดแยกมะเขือเทศหลักๆ ประกอบด้วย ชุดกล้อง ชุดควบคุมการทำงาน ชุดตรวจจับ คอมพิวเตอร์และถาดลำเลียง หลังจากการประมวลผลระบบจะสั่งให้ถาดลำเลียงยกผลมะเขือเทศขึ้นตามช่องที่กำหนดคุณภาพของมะเขือเทศผลนั้นไว้ โดยอัตราการคัดแยกผลมะเขือเทศประมาณ 2,000 ผลต่อชั่วโมง (อรฉัตร จิตต์โสภักตร์, 2552) ดังแสดงในรูปที่ 4
หลังจากผ่านกระบวนการวิเคราะห์คุณภาพและคัดขนาดแล้วผลมะเขือเทศจะถูกบรรจุลงในกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ถูกออกแบบให้ลดการสูญเสียจากแรงกดทับ แรงอัด แรงสั่นสะเทือน อันเนื่องมาจากการขนส่งมากที่สุด โดยแยกตามขนาดที่ได้กำหนดไว้ซึ่งสามารถดูได้จากสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ด้านข้างกล่อง จากนั้นกล่องมะเขือเทศจะถูกลำเลียงไปตามสายพานดังแสดงในรูปที่ 5 เพื่อติดฉลากก่อนจะถูกส่งต่อไปยังพื้นที่เก็บสินค้าเพื่อเตรียมขนส่งสู่ตลาดต่อไป
นอกจากการส่งมะเขือเทศไปจำหน่ายยังตลาดในเมืองต่างๆ แล้ว เกษตรกรชาวญี่ปุ่นยังมีช่องทางจำหน่ายภายในท้องถิ่นผ่านตู้ซื้อสินค้าแบบหยอดเหรียญ ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยจะมีการกำหนดราคาสินค้าไว้ที่ป้ายหน้าตู้คล้ายกับตู้ซื้อเครื่องดื่มหรือน้ำอัดลมแบบหยอดเหรียญที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
จากกระบวนการผลิตมะเขือเทศของ JA ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรของประเทศไทยได้ โดยอาจมีการจัดโซนการผลิตและการขายพืชผักแต่ละชนิด การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม เพื่อคงคุณภาพของผลิตผลให้ยาวนาน รวมทั้งมีการวิเคราะห์และวางแผนการผลิตในแต่ละปีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาด้านผลิตผลล้นตลาดและราคาที่ตกต่ำของผลิตผลที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ได้
เอกสารอ้างอิง
- อรฉัตร จิตต์โสภักตร์. 2552. Digital Image Processing ทฤษฎีการประมวลผลภาพดิจิตอล, พิมพ์ครั้งที่ 1, สำนักพิมพ์สงวนกิจ พริ้นท์ แอนด์ มีเดีย.
- D. G. Hessayon. 2008. Green House Expert. London, Transworld Publisher, pp. 5 – 19.