โดย ผศ.ดร. พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย สาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนรายใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในแถบภูมิภาคเอเซียได้แก่ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน สำหรับการส่งออกไปจีนนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด โดยผลไม้ของไทยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับจีนตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้การค้าผัก-ผลไม้ระหว่างไทย-จีนอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยในการขยายการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนและมีกำลังซื้อค่อนข้างมาก
ลำไย เป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับไทยอย่างมหาศาล โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกลำไยไม่ว่าจะเป็นรูปผลสด แช่แข็งและลำไยอบแห้งเป็นรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2556 ประเทศไทยส่งออกลำไยในรูปผลสด แช่แข็ง และลำไยอบแห้ง ประมาณ 553.631 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 409.175 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างปี 2556 – 2558 มูลค่าการส่งออกลำไยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2559 และ 2560 มูลค่าการส่งออกลำไยจะเพิ่มขึ้นอีก (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร, 2559) ประเทศที่สามารถผลิตลำไยได้ คือ ไทย จีน เวียดนาม ไต้หวัน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ และที่ปลูกที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์อีดอ ตลาดส่งออกลำไยได้แก่ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในปี 2548 มีพื้นที่ปลูกลำไยถึง 81,156 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 104,467 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,016 กิโลกรัม (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2548) ลำไยที่ปลูกในเขตจังหวัดจันทบุรีเป็นลำไยที่ผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณส่งออกลำไยสดไปประเทศจีนปริมาณ 87,485 ตัน มูลค่า 85.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลำไยแห้ง 7,567 ตัน มูลค่า 6.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2010 (มกราคม-กันยายน) (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2553) สำหรับการผลิตและการส่งออกลำไยในลักษณะผลไม้สดไปยังตลาดต่างประเทศ ต้องใช้เวลานานในการขนส่ง ทำให้ลำไยสดที่ส่งออกตลาดต่างประเทศมีปัญหาด้านคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่สีผลเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ส่งผลให้ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค (Prapaipong and Rakariyatham, 1990)
ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการขยายการปลูกลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งจังหวัดมีลำไยนอกฤดูถึง 90% จากเดิมมีพื้นที่ปลูก 105,000 ไร่เศษ ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 120,000 ไร่ เดิมจะมีการปลูกเฉพาะพื้นที่ด้านบนของจังหวัด คือ อำเภอโป่งน้ำร้อนกับสอยดาว ซึ่งมีปริมาณการปลูกรวม 100,000 ไร่ แต่ ปัจจุบันมีการขยับขยายลงมาด้านล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม
การปลูกลำไยในภาคตะวันออกนั้นเป็นการผลิตลำไยนอกฤดู โดยในปี 2555 พบว่าพื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรี มีปริมาณการส่งออกมากเกือบ 5 แสนตัน (ในปี 2554) สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการปลูกผลไม้ดั้งเดิมของจังหวัด เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง เป็นต้น ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกลำไยเพื่อการส่งออกที่สำคัญ เพราะเป็นผลไม้ที่สามารถบังคับและกำหนดระยะเวลาให้ผลผลิตออกได้ตามความต้องการ โดยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตหรือชาวสวนเรียกว่าสารราดลำไย ทำให้ออกดอกนอกฤดู โดยจะส่งออกผลิตผลส่วนใหญ่ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย พื้นที่ปลูกลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรี นั้นได้เปรียบในเรื่องของแหล่งน้ำ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เทคนิคการจัดการในแปลง และการบริหารจัดการลำไยนอกฤดู โดยชาวสวนจะบังคับผลผลิตให้ออกตรงกับความต้องการของตลาดที่ประเทศจีน โดยจะให้สารราดหรือสารโพแทสเซียมคลอเรตในเดือนมีนาคม และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เดือนกันยายน ซึ่งตรงกับวันชาติจีน (1-7 ตุลาคมของทุกปี) และการให้สารราดในเดือนเมษายน ไม่ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนธันวาคมและเทศกาลปีใหม่สากล นอกจากนั้นยังมีการให้สารราดในเดือนมิถุนายน ชาวสวนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมกราคม ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน และการให้สารราดในเดือน กรกฎาคม นั้น จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเชงเม้งของชาวจีน ซึ่งการให้ผลผลิตลำไยในช่วง มกราคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่ตลาดคู่แข่งได้แก่ประเทศเวียดนามและประเทศจีนเองไม่มีผลผลิต ดังนั้นลำไยของจังหวัดจันทบุรีจึงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนอย่างมาก โดยลำไยนอกฤดูที่ผลิตออกมาในช่วงก่อนตรุษจีน ปีใหม่ และวันชาติจีน จะสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่าช่วงอื่นๆ ทั้งนี้ชาวสวนจะมีการวางแผนในการทำลำไยนอกฤดู โดยถ้าต้องการให้ได้ราคาดีก็จะบังคับให้ออกก่อนช่วงเทศกาลเล็กน้อยซึ่งจะขายได้ราคาที่แพงขึ้น
ระบบห่วงโซ่อุปทานลำไยของภาคตะวันออกประกอบด้วย ชาวสวนผู้ปลูกลำไย พ่อค้ารวบรวม สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ล้ง (ตัวแทนผู้ส่งออก) และผู้ส่งออก ซึ่งจะมีการดำเนินกิจกรรมหลักแตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่การจัดการด้านการผลิตจนถึงผู้บริโภคปลายทาง โดยเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดจันทบุรีมีรูปแบบการผลิตลำไย 2 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรกรผลิตลำไยตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP (Good Agricultural Practices) และเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP จากผลการสำรวจพบว่า สาเหตุที่เกษตรกรไม่ปฏิบัติตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP อาจเนื่องมาจากราคาของผลผลิตทั้งสองรูปแบบเท่ากัน และเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตรายใหม่ซึ่งพื้นที่ในการปลูกอาจยังมีขนาดเล็ก โดยสอดคล้องกับการศึกษาของ Kramchote และคณะ 2010 พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกกะหล่ำปลีไม่ปฏิบัติตาม GAP เนื่องจากราคาขายของผลผลิตที่ปฏิบัติตามหลักการ GAP และไม่ปฏิบัติตามหลักการ GAP ไม่แตกต่างกัน และขั้นตอนในการปฏิบัติตามหลัก GAP นั้นค่อนข้างยาก จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยของ สุทธิศักดิ์ ห่านนิมิตกุลชัย (2549) พบว่าการปลูกสับปะรดตามระบบ GAP มีวิธีการที่ยุ่งยากกว่าวิธีการปลูกแบบดั้งเดิม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับของเกษตรกร แต่ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดจันทบุรี พบว่า จำนวนเกษตรกรที่ทำการขอ GAP มีปริมาณมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางหน่วยงานราชการมีการเผยแพร่ความรู้และประโยชน์ของการจัดการตามระบบคุณภาพ GAP
สำหรับการขนส่งลำไยจากสวนที่ปลูกไปยังโรงคัดบรรจุนั้น ทางล้งหรือผู้รวบรวมเป็นผู้ขนส่งผลผลิต ดังนั้นต้นทุนด้านการขนส่งผลผลิตลำไยจึงเป็นของผู้รวบรวม การผลิตลำไยเพื่อการส่งออกของจังหวัดจันทบุรีมีความแตกต่างกับการผลิตผลไม้ชนิดอื่นๆ โดยล้งจะทำการติดต่อตกลงซื้อขายก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยว แต่ละล้งมีตลาดในเมืองจีนที่แน่นอน และยังต้องมีสินค้าส่งป้อนให้ลูกค้าตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากจีนต้องการสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้แต่ละล้งต้องมีลำไยไว้ในมือก่อนที่จะถึงฤดูการเก็บเกี่ยว ถ้ารอให้ถึงเวลาส่งแล้วค่อยหาสินค้า อาจทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ผู้รวบรวมหรือล้งจะเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการเก็บเกี่ยว คัดแยกขนาดและคุณภาพ โดยจะนำแรงงานซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเก็บเกี่ยวคัดแยกขนาด และคุณภาพที่สวน ตลอดจนเตรียมรถสำหรับขนส่งลำไยจากสวนหรือสถานที่รวบรวม และทำการขนส่งไปที่โรงคัดบรรจุ ดำเนินการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษารวมทั้งเพื่อให้สีผิวเปลือกเป็นสีทองสวยงาม โดยเมื่อลำไยส่งถึงประเทศจีนแล้ว ลำไยจะถูกสุ่มตรวจจากกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine AQSIQ) โดยต้องมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ถ้าพบว่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงกว่าที่กำหนด ลำไยจะถูกส่งตีกลับประเทศไทย หลังจากรมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้ว จะทำการผึ่งให้แห้ง บรรจุ และลำเลียงในตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิเพื่อส่งออกไปประเทศจีน จากการสัมภาษณ์ผู้รวบรวมลำไยเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีนในเขตอำเภอสอยดาว และโป่งน้ำร้อน พบว่า ผู้รวบรวมลำไยเป็นผู้จัดหาแรงงานเข้าไปเก็บเกี่ยว บรรจุและขนส่งจากแปลงปลูกสู่โรงคัดบรรจุ และดำเนินการจนลำเลียงสู่รถตู้คอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิ 0-1 องศาเซลเซียส ซึ่งข้อมูลการเคลื่อนย้ายของลำไยจากจันทบุรีไปตลาดต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแรกขนส่งลำไยจากโรงคัดบรรจุไปยังท่าเรือแหลมฉบังใช้เวลา 5 ชั่วโมง หลังจากนั้นขนส่งทางเรือไปฮ่องกงและจีนใช้เวลาประมาณ 7 วัน จุดใหญ่ที่ส่งไปคือเมืองกวางโจว เส้นทางที่ 2 ขนส่งลำไยจากโรงคัดบรรจุไปยังจังหวัดมุกดาหาร และใช้ถนนหมายเลข 9 หรืออาร์ 9 จากมุกดาหาร ผ่านดานังไปฮานอยแล้วไปสู่ปักกิ่งประเทศจีน เส้นทางที่ 3 ได้แก่ ขนส่งลำไยจากโรงคัดบรรจุไปยังจังหวัดเชียงราย และใช้ถนนสาย อาร์3 เอ (R 3A) จากเชียงของ จ.เชียงราย ผ่านประเทศลาวสู่ทางใต้ของจีนไปยังคุนหมิง
จากรายงานการวิจัย (พนิดา และคณะ, 2556) พบว่าปริมาณผลผลิตลำไยของเกษตรกรกลุ่มที่มีการจัดการคุณภาพตามระบบ GAP มีปริมาณผลผลิต 1,543 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมีปริมาณสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบ GAP (1,499 กิโลกรัมต่อไร่) อาจเนื่องมาจากการจัดการคุณภาพตามระบบ GAP เกษตรกรต้องมีการวางแผนและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเพื่อให้ได้ผลลำไยที่มีขนาดใหญ่ สม่ำเสมอ การควบคุมปริมาณดอกและผล ตั้งแต่การชักนำทำให้ลำไยออกดอก การจัดการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของผล การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตลำไยที่ปลอดจากศัตรูพืช (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2548) จึงทำให้ได้ผลผลิตมีปริมาณมากกว่าการจัดการแบบไม่ได้ปฏิบัติตามระบบ GAP นอกจากนั้นยังพบว่าต้นทุนการผลิตรวมลำไยของเกษตรกรที่มีการจัดการคุณภาพตามระบบ GAP มีต้นทุนการผลิตรวมต่ำกว่าของเกษตรกรที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระบบ GAP โดยต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชสูงกว่าการปลูกตามระบบการจัดการ GAP เนื่องจากการจัดการตามระบบ GAP เกษตรกรต้องมีการจัดการพื้นที่ปลูกและแผนการปลูกให้เหมาะสม ซึ่งการจัดทำแผนการปลูกและการจัดการพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม เช่น ในบางกิจกรรมนั้นสามารถลดหรือตัดขั้นตอนบางส่วนออกไปได้ ซึ่งเกษตรกรต้องใส่ใจในจุดนั้น เพราะทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลำไยลดลงและให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น (รุจิรา, 2553)
ดังนั้นการลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรควรปลูกลำไยตามระบบ GAP เนื่องจากเป็นระบบการประกันคุณภาพและมาตรฐานของลำไย ทำให้ลำไยได้ราคาดีกว่าการปลูกแบบไม่ตามระบบ GAP รวมถึง ในปี 2558 จะมีกฎข้อบังคับหลายข้อในเรื่องการทำเกษตรของประชาคมอาเซียนมีข้อบังคับใช้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องหันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพสินค้าและมาตรฐานมากขึ้น การลดต้นทุนการผลิต และต้นทุนโลจิสติกส์ของเกษตรกร ในด้านการจัดหาปัจจัยการผลิต เกษตรกรควรรวมกลุ่มผู้ปลูกลำไย เพื่อวางแผนการจัดซื้อปัจจัยการผลิตภายนอก เช่น สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ ทั้งนี้ทำให้สามารถต่อรองราคาซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรจากร้านจำหน่าย และควรจัดซื้อในครั้งเดียว เพื่อให้เพียงพอต่อรอบการผลิตในแต่ละครั้ง ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้ จากข้อมูลการส่งออกลำไยไปจีนที่ผ่านมาพบว่าโอกาสของการส่งออกลำไยสดและแห้ง ยังมีอีกมาก เนื่องจากลำไยของไทยเป็นผลผลิตที่มีรสชาติโดดเด่น มีเทคโนโลยีในการปลูกและสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับความต้องการบริโภคลำไยในตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีน
**บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2560
เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมการเกษตร. 2548. การส่งออกและนำเข้าสินค้าพืชสวนของไทย. กองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร.
- ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจการเกษตร. 2553. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
- พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย, เฉลิมชัย วงษ์อารี และ วาริช ศรีละออง. 2556. รายงานการวิจัยการวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของลำไยในเขตจังหวัดจันทบุรี ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ.
- รุจิรา เอี่ยมสอ้าง. 2552. การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานข้าวโพดฝักอ่อนในเขตจังหวัดนครปฐม สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
- รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ. 2559. สถานการณ์การส่งออกลำไยไทยไปจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์.
- สุทธิศักดิ์ ห่านนิมิตกุลชัย. 2549. วิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานสับปะรดกระป๋องในประเทศไทย สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
- Kramchote, S., V. Srilaong, C. Wong-Aree and S. Kanlayanarat. 2010. Estimation of Nutrition Quality in Different Leaves of Cabbage. In Proceeding of Asia pacific symposium on Postharvest Research Education and Extension. August 2-4, 2010. Thailand.
- Prapaipong, H. and N. Rakariyatham. 1990. Enzymatic browning in Longan. Microbial Utilization Renewable Resources 7: 25-427.