กระบวนการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รี

กระบวนการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รี

โดย สุภาวดี  ศรีวงค์เพ็ชร1  ดนัย  บุณยเกียรติ2,3  พิชญา พูลลาภ4  และชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน5

1ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กทม. 10400
3ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง มูลนิธิโครงการหลวง จ.เชียงใหม่

สตรอว์เบอร์รี เป็นผลไม้ที่ไม่มีเปลือกจึงชอกช้ำและเสียหายได้ง่าย ดังนั้นการเก็บเกี่ยวผล สตรอว์เบอร์รีจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลเกิดการช้ำ เพราะเชื้อราจะเข้าทำลายได้ง่าย การเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รีในประเทศไทย เป็นการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน ซึ่งสามารถพิจารณาเลือกเก็บเฉพาะผลที่มีระยะความแก่ที่เหมาะสม (ดนัยและประสาทพร, 2546)

การเก็บเกี่ยว ควรเก็บในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ คือตอนเช้ามืดในสภาพอากาศแห้ง แสงแดดยังไม่แรง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วไม่ควรปล่อยให้ผลถูกแสงแดดนานเกินกว่า 10-15 นาที ต้องรีบนำเข้าที่ร่มภายในโรงเรือนหรือโรงคัดบรรจุชั่วคราวบริเวณแปลงปลูกทันที เนื่องจากผลสตรอว์เบอร์รีมีอัตราการหายใจสูงเมื่อถูกแสงแดดจะทำให้ผลเน่าเสียหายเร็วขึ้น ควรใส่ภาชนะที่ถือได้สะดวกและไม่ทับกันเกินไปในแต่ละครั้ง และเก็บเกี่ยวขณะที่ผลมีการพัฒนาของสีแดงที่ผิวประมาณ 3 ใน 4 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งผล และผลยังคงมีความแข็งก่อนถึงมือผู้บริโภค ผลที่สุกและนิ่มเกินไปไม่ควรใส่รวมกันในภาชนะที่นำมาจำหน่าย หากเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงมากอาจทำให้ผลสุกอย่างเร็วขึ้น (ณรงค์ชัย, 2543) (รูปที่ 1)

กระบวนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งผลสตรอว์เบอร์รี

ข้อกำหนดเชิงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอว์เบอร์รีเพื่อตลาดบริโภคผลสด (ดนัยและประสาทพร, 2546)

  1. มีรูปร่างของผลเป็นปกติ ไม่บิดเบี้ยว
  2. มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของผลตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตรขึ้นไป
  3. ผลไม่มีอาการเน่า ช้ำหรือเสียหายเพราะถูกทำลายจากโรคและแมลง
  4. ผลมีสีชมพู และไม่ปล่อยให้ผลสุกจนเป็นสีแดง

วิธีการเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รี ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง ดังนี้

  1. เลือกเก็บผลสตรอว์เบอร์รีที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะเรื่องสีผล
  2. เก็บโดยใช้มือเด็ดผลออกจากขั้ว หรือใช้กรรไกรขนาดเล็กตัดขั้วผล
  3. ควรเลือกเก็บในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ แดดไม่ร้อนจัด ดังนั้นจึงควรเก็บในช่วงเช้า
  4. ภาชนะที่ใช้บรรจุสตรอว์เบอร์รีในขณะเก็บเกี่ยวผลในแปลง ควรใช้ตะกร้าที่มีความโปร่ง มีขนาดที่เหมาะสม และไม่ควรบรรจุสตรอว์เบอร์รีมากเกินไป เพราะจะเกิดการกดทับทำให้ผลสตอรว์เบอร์รีเกิดอาการช้ำ
  5. รวบรวมผลสตรอว์เบอร์รีที่เก็บได้ คัดแยกคุณภาพ และส่งขายให้เร็วที่สุด

การบรรจุและการขนส่ง  เนื่องจากผลของสตรอว์เบอร์รีบอบช้ำง่ายโดยเฉพาะถ้าเส้นทางคมนาคมไกลและถนนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการบรรจุผลสตรอว์เบอร์รีจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ การบรรจุ  หีบห่อและส่งจำหน่ายควรทำให้รวดเร็วที่สุด ระบบการบรรจุโดยทั่วไปจะบรรจุผลสตรอว์-เบอร์รีลงในถาดพลาสติกใสเจาะรู และมีฝาปิดโดยเรียงเพียง 2 ชั้น แล้วคลุมด้วยแผ่นพลาสติกกันกระแทก พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) หนา 25 ไมครอน บรรจุลงในกล่องกระดาษซึ่งบรรจุได้ 4 หรือ 8 ถาด (รูปที่ 1) เพื่อลดการกระทบกระเทือนของผล แล้วขนส่งโดยใช้รถบรรทุกที่มีเครื่องทำความเย็น (คงกฤช, ม.ป.พ.)

ผลสตรอว์เบอร์รีที่มีคุณภาพดีควรจะสะอาด มีสีสด เนื้อแน่น และมีกลีบเลี้ยงติดมาด้วย    กลีบเลี้ยงมีสีเขียวไม่แห้ง ผลควรมีสีแดงทั้งผลหรืออย่างน้อยผลมีสีแดง 75 เปอร์เซ็นต์ สตรอว์เบอร์รีที่มีสีแดงคล้ำทั้งผลแสดงว่าสุกงอมเกินไป ผลสตรอว์เบอร์รีที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกัน ควรมีสีและขนาดสม่ำเสมอ ไม่มีรอยแผล ช้ำ หรือมีผลที่เชื้อราเข้าทำลาย

มาตรฐานของผลสตรอว์เบอร์รีที่ใช้ในต่างประเทศ ผลสตรอว์เบอร์รีจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 3.81 เซนติเมตร และยอมให้มีผลเล็กกว่านี้ปะปนได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยโดยทั่วไปแล้วสามารถจัดระดับมาตรฐานของผลสตรอว์เบอร์รีโดยใช้ขนาดของผลเป็นหลัก ดังนี้

มาตรฐานของผลสตรอว์เบอร์รี

 

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว สตรอว์เบอร์รีมีอายุการเก็บรักษาสั้นและสูญเสียคุณภาพอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น เพราะผลมีลักษณะนิ่ม ผิวบาง ง่ายต่อการช้ำและการเข้าทำลายของจุลินทรีย์ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในขณะที่เก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง (นิธิยาและดนัย, 2533) โดยปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รีในระยะที่แก่เกินไป (รูปที่ 2)  การลดความเสียหายนั้นสามารถทำได้โดยการคัดเลือกระยะความแก่หรือดัชนีเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม (ทองใหม่, 2541) ซึ่งในแต่ละระยะความแก่ผลสตรอว์เบอร์รีมีกระบวนการทางสรีรวิทยา ส่วนประกอบทางเคมี และลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน จึงส่งผลต่อสี กลิ่น รสชาติ ความแน่นเนื้อ และสมดุลระหว่างน้ำตาลและกรดภายในผล (Montero et al., 1996)

การเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รีในประเทศสหรัฐอเมริกานิยมเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีแดงประมาณ 50-75เปอร์เซ็นต์ ส่วนในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นแหล่งผลิตสตรอว์เบอร์รีที่สำคัญของสหรัฐอเมริกากำหนดให้เก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รีที่มีสีผิวเป็นสีชมพูหรือแดงประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ (นิธิยาและดนัย, 2533) และการศึกษาผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ Tioga ของโครงการหลวงสรุปว่า ควรเก็บเกี่ยวผลที่มีสีแดงอย่างน้อย 60-80 เปอร์เซ็นต์ (ประสาทพรและดนัย, ม.ป.พ) รวมถึงการศึกษาดัชนีเก็บเกี่ยวของผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ 329 พบว่า การเก็บเกี่ยวในระยะพัฒนาสีผิว 25 เปอร์เซ็นต์ (รูปที่ 3) เป็นระยะที่เหมาะสม เนื่องจากคุณภาพทางเคมีและสารอาหารสำคัญไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามระยะการพัฒนาสีผิว รวมทั้งการเก็บเกี่ยวในระยะพัฒนาสีผิวดังกล่าวมีความแน่นเนื้อสูงและมีอายุการเก็บรักษานานที่สุด และยังสามารถพัฒนาสีผิวต่อไปได้ (สุภาวดีและคณะ, 2557)

ความเสียหายผลสตรอว์เบอร์รี

ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุผลสตรอว์เบอร์รีในปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติกทรงสูง กล่องพลาสติกและกล่องกระดาษ การเลือกใช้ภาชนะบรรจุที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสียหายของผลิตผลได้(ดนัยและนิธิยา,2548) ซึ่งในประเทศไทยเกษตรกรนิยมใช้ถุงพลาสติกทรงสูงบรรจุผลสตรอว์เบอร์รี และกล่องพลาสติก เพราะสะดวกในการใช้งาน และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค   แต่เนื่องจากภาชนะบรรจุทั้งสองชนิดนี้มีการจัดวางผลสตรอว์เบอร์รีซ้อนทับกันเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ผล   สตรอว์เบอร์รีช้ำเสียหายได้ง่าย

ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุผลสตรอว์เบอร์รี

ดังนั้น ในการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รี จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลสตรอว์เบอร์รี เช่น สภาพแวดล้อมในขณะเก็บเกี่ยว ดัชนีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม วิธีการเก็บเกี่ยว และกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อลดความสูญเสียและยืดอายุการวางจำหน่าย รวมถึงสามารถนำไปใช้จัดการสายโซ่อุปทานของการผลิตสตรอว์เบอร์รีทั้งระบบ เช่น ในกรณีการขนส่งระยะทางไกล ควรเลือกเก็บเกี่ยวผลสตรอว์เบอร์รีในระยะการพัฒนาสีผิว 25 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีความแน่นเนื้อสูง และสามารถทนต่อการสูญเสียทางกลระหว่างขนส่งได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน รวมถึงการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่ง ที่มีความสามารถในการถ่ายเทอากาศได้ดี ลดอาการช้ำของผลสตรอว์เบอร์รีระหว่างการขนส่งได้ เป็นต้น

** บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน Postharvest Newsletter ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2561

เอกสารอ้างอิง

  • คงกฤช อินทแสน. ม.ป.ป. สตรอเบอรี่. ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.haec01.doae.go.th/aticles/stawberry.pdf. (17 กุมภาพันธ์ 2557)
  • ณรงค์ชัย พิพัฒธนวงศ์. 2543. สตรอว์เบอร์รี: พืชเศรษฐกิจใหม่. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.158 น.
  • ดนัย บุณยเกียรติ และ ประสาทพร สมิตะมาน.  2546. สตรอเบอรี. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กรุงเทพฯ. 48 น.
  • ดนัย บุณยเกียรติ และ นิธิยา รัตนาปนนท์. 2548. การปฏิบัติภายหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้.  สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ. 142 น.
  • ทองใหม่ แพทย์ไชโย. 2541. คุณภาพทางกายภาพและเคมีหลังการเก็บเกี่ยวผลสตรอเบอรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาพืชสวน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
  • นิธิยา รัตนาปนนท์ และดนัย บุณยเกียรติ. 2533. วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้เศรษฐกิจ. คณะเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 213 น.
  • ประสาทพร สมิตะมาน และดนัย บุณยเกียรติ. ม.ป.ป. สตรอเบอรี. ฝ่ายประสานงานวิจัย/วิชาการเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กรุงเทพฯ. 36 น.
  • สุภาวดี  ศรีวงค์เพ็ชร, ดนัย  บุณยเกียรติ  และพิชญา  บุญประสม พูลลาภ. 2557. คุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผล   สตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ 329. วารสารแก่นเกษตร 42 (4) : 463-472.
  • Montero, T.M., E.M. Molla, R.M. Esteban and F.J. Lopez-Andreu. 1996. Quality attributes of strawberry during ripening. Scientia Hortic. 65: 239-250.