โดย ผศ.ดร. อรอุมา เรืองวงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มอดยาสูบ (Lasioderma serriorne) และด้วงกาแฟ (Araeceus fasciculatus) เป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่จะเข้าทำลายผลผลิตในขณะการเก็บรักษาแมลงในโรงเก็บเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากแมลงสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะเข้าทำลายก่อความเสียหายให้กับผลผลิตในโรงเก็บ ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งน้ำหนัก คุณค่าทางอาหาร คุณภาพ และความงอก ซึ่งความเสียหายของผลิตผลที่เกิดจากแมลงประมาณ 5-10% (สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว, 2563) นอกจากนี้ยังพบว่าแมลงสามารถเป็นพาหะที่ช่วยแพร่กระจายเชื้อสาเหตุโรคพืชได้ โดยจากรายงานของ Lombardero et al. (2019) พบว่าด้วง Tomicus piniperda มีความสามารถในการช่วยแพร่กระชายเชื้อรา Fusarium circinatum สาเหตุโรค pith canker ในต้นสนได้ อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณการเกิดโรค ด้วยการที่ด้วงกัดกินเข้าไปภายในยอดของพืชที่ไม่เป็นโรค และเป็นพาหะนำส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราเข้าไปภายในลำต้น
การประเมินและตรวจสอบเชื้อที่ติดมาจากแมลงศัตรูในโรงเก็บ
นำตัวอย่างแมลงโรงเก็บ ได้แก่ มอดยาสูบ (L. serriorne) (ภาพที่ 1) และด้วงกาแฟ (A. fasciculatus) (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่เข้าทำลายเมล็ดกาแฟหลังการเก็บเกี่ยว ทำการเคาะแมลงแต่ละชนิดออกจากเมล็ดกาแฟ จากนั้นนำแมลงใส่ลงในกระดาษฆ่าเชื้อมัดด้วยหนังยางและทำการฆ่าแมลงด้วยสารระเหยไซยาไนด์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เมื่อแมลงตายแล้วจึงนำมาวางบนอาหารเลี้ยงเชื้อ potato dextrose agar (PDA) ด้วยวิธี aseptic technique ทำการจำแนกเชื้อราโดยตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ชนิด compound microscope และระบุจีนัสของเชื้อราโดยอ้างอิงจาก รัติยาและคณะ (2557) และ Walther et al. (2019) ทำการตรวจสอบชนิดของแบคทีเรียด้วยการทดสอบด้วย KOH ความเข้มข้น 3%
จากการสำรวจพบเชื้อในมอดยาสูบ (L. serriorne) เป็นเชื้อราและแบคทีเรียติดมากับแมลง (ภาพที่ 3) โดยจะพบเชื้อรามากที่สุด 76.67 เปอร์เซ็นต์ โดยในวันที่ 3 พบว่ามีเส้นใยของเชื้อรา Mucor sp. เจริญปกคลุมเกือบทั่วทั้งจานอาหาร ซึ่งพบมากที่สุด 46.67 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 3ข 5ง 5จ และ 5ฉ) และพบเชื้อรา Aspergillus sp. น้อยที่สุด 30.00 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 5ก 5ข และ 5ค) นอกจากนี้ยังพบแบคทีเรียทั้งหมด 23.33 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 4) โดยจะพบแบคทีเรียแกรมบวกมากที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ และแบคทีเรียแกรมลบ 3.33 เปอร์เซ็นต์ (ตารางที่ 1)
ส่วนในด้วงกาแฟ (A. fasciculatus) พบมีเชื้อราและแบคทีเรียติดมากับแมลง (ภาพที่ 6) โดยจะพบเชื้อราในทุกตัวอย่างแมลง ซึ่งพบมากที่สุดคือเชื้อรา Aspergillus sp., Penicillium sp. และเชื้อราที่ไม่สามารถระบุจีนัสได้ ตามลำดับ โดยพบเชื้อรา Aspergillus sp. 90 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 8ค-8ฏ) พบเชื้อรา Penicillium sp. 6 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 8ก และ 8ข) และพบเชื้อราที่ไม่สามารถระบุจีนัสได้ 4 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 8ฐ-8ณ) นอกจากนั้นยังพบแบคทีเรียที่ติดมากับแมลงทั้งหมด 12.50 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 7) โดยพบแบคทีเรียแกรมลบมากที่สุด 9.72 เปอร์เซ็นต์ และพบแบคทีเรียแกรมบวก 2.78 เปอร์เซ็นต์ (ตารางที่ 1)
จากการตรวจสอบเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ติดมาจากมอดยาสูบ (L. serriorne) ตรวจพบเชื้อรา Mucor sp. มากที่สุด รองลงมาคือ เชื้อรา Aspergillus sp. ซึ่งในวันที่ 3 พบเชื้อรา Mucor sp. เจริญปกคลุมเกือบทั้งจานอาหารเลี้ยงเชื้อ ซึ่งในการตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียพบว่าเป็นแบคทีเรียแกรมบวกมากที่สุด และจากการตรวจสอบเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ติดมาจากด้วงกาแฟ (A. fasciculatus) ตรวจพบเชื้อราAspergillus sp. มากที่สุดคือ รองลงมาคือเชื้อรา Penicillium sp. และเชื้อราที่ไม่สามารถระบุจีนัสได้ ตามลำดับ และในการตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียพบว่าเป็นแบคทีเรียแกรมลบมากที่สุด
ทำให้สามารถสัณนิษฐานได้เบื้องต้นว่าแมลงศัตรูกาแฟในโรงเก็บทั้งสองชนิดอาจจะเป็นพาหะของเชื้อสาเหตุโรคพืชของเมล็ดกาแฟภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ยังคงต้องทำการศึกษาในเชิงลึกต่อไป เพื่อนำข้อมูลมาประกอบและยืนยันข้อสัณนิษฐานนี้
เอกสารอ้างอิง
- Lombardero, M.J., A. Solla and M.P. Ayres. 2019. Pine defenses against the pitch canker disease are modulated by a native insect newly associated with the invasive fungus. Forest Ecology and Management 437:253–262.
- Walther, G., L. Wagner and O. Kurzai. 2019. Review updates on the taxonomy of Mucorales with an emphasis on clinically important taxa. Journal of fungi 5(106): 1-23.
- รัติยา พงศ์พิสุทธา, ชัยณรงค์ รันตนกรีฑากุล และรณภพ บรรเจิดเชิดชู. 2557. เชื้อราบนเมล็ดพันธุ์. พิมพ์ครั้งที่ 1 แดเน็กซ์อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น, กรุงเทพฯ. 88 หน้า.
- สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว. 2563. วิทยาก่อนและหลังการเก็บเกี่ยข้าว. กรมการข้าว. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.ricethailand.go.th/Rkb/postharvest/index.php- file=content. php&id=5.htm (8 กุมภาพันธ์ 2563).