จัดทำเทคโนโลยีใหม่ให้ผัก-ผลไม้เก็บไว้ได้นาน


การเก็บรักษาในตู้ควบคุมอุณหภูมิ

ประเทศไทย ได้ขึ้นชื่อว่ามีผลไม้ และผักสดที่สำคัญ ต่อความต้องการ ของพลเมืองโลก ยกตัวอย่าง ทุเรียน “ราชาแห่งผลไม้” มังคุด “ราชินีแห่งผลไม้” นอกจากนี้ยังมีกล้วยหอม ลิ้นจี่ สับปะรดเงาะ และผัก เช่นหน่อไม้ฝรั่ง กระเจี้ยบขาว มะนาวข้าวโพด ฯลฯ

ห้วง…เวลา 7 เดือน ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ผลไม้และผักมีราคาถูก ผู้บริโภคหารับประทานง่าย แต่เกษตรกรต้องคิดหนักถึงต้นทุนการผลิตที่คิดคำนวณแล้ว จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงในการประกอบอาชีพ

รัฐบาลต้องออกมารับประกันราคากันแทบอยู่ทุกปี!!!

ปัญหา???เรื่องคุณภาพในระหว่างการส่งออกก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หากส่งออกทางเครื่องบินจะรวดเร็วแต่เสียค่าใช้จ่ายสูง ถ้าส่งทางเรือจะช้าแต่ราคาถูก คณะนักวิจัยจากภาควิชาพืชสวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีผศ.ดร.สมชาย กล้าหาญ ได้คิดค้นวิธีการยืดอายุผลไม้และผักให้เก็บรักษาไว้ได้นานวันขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จำหน่าย หากมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

คณะนักวิจัยได้ค้นคว้าวิจัยจนพบวิธีการนำเทคโนโลยี มาใช้ยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้และผักเป็นผลสำเร็จแล้วจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ มังคุด เก็บรักษาไว้นานกว่า 35 วัน กล้วยหอมเก็บรักษาได้ 70 วัน กล้วยไข่ 40 วัน หน่อไม้ฝรั่ง 30 วัน กระเจี๊ยบเขียว 40 วัน ข้าวโพดฝักอ่อน 25 วัน มะนาว 60 วัน ลิ้นจี่ 18 วัน สับปะรด 30 วันและเงาะ เก็บรักษาได้ 15 วัน

ผศ.ดร.สมชาย กล้าหาญ เผยว่า หลักการที่ใช้ยืดอายุ คือการควบคุมขบวน การเปลี่ยนแปลงผลผลิต ที่นำไปสู่ความเสื่อมสลาย โดยการควบคุมอัตราการหายใจ ของผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยวให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ก็จะยืดอายุได้นาน ส่วนการจัดการปัจจัยภายนอก ให้เหมาะสม ได้แก่ 1.ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ผลผลิตแต่ละชนิด 2.ควบคุมความชื้น ภายในภาชนะบรรจุไม่ให้เกิดหยดน้ำ 3.ควบคุม+ป้องกันการเข้าทำลาย ของโรคและแมลง 4.ควบคุมปริมาณก๊าซเอทธิลีน ที่ผลผลิตสร้างขึ้นภายใน ภาชนะบรรจุไม่ให้มีปริมาณมาก เพราะสามารถทำความเสียหายให้กับผลผลิตได้ 5.จัดบรรยากาศแวดล้อมผลผลิตสด ภายหลังการบรรจุครั้งแรกให้เหมาะสม แล้วปล่อยให้มีการปรับสภาพ ภายในภาชนะบรรจุเองด้วยตัวของผลผลิตเอง

ผลประโยชน์ของการเก็บรักษาผักและผลไม้ดังที่กล่าวมา มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมากๆ สามารถส่งไปจำหน่ายได้ทั่วทุกมุมโลก ง่ายต่อการปฏิบัติและไม่มีสารปนเปื้อน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมี ขณะนี้ได้ขยายวงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว โดยมีผู้สนับสนุนเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมจัดทำโรงงานต้นแบบ

งานนี้เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญของวิธีการเก็บรักษาผลผลิต ผลักดันให้เกิดราคาผลผลิตที่สูงขึ้น อันจะนำไปสู่เทคโนโลยีการส่งออกต่อไปในอนาคต หากมีผู้สนใจจะขอความรู้หรือนำไปใช้ ติดต่อไปได้ที่ ผศ.ดร.สมชาย กล้าหาญ 0-2373-3333 ต่อ 6024 รับรองว่าไม่ผิดหวัง.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2546