โดย … ผศ.ดร. เฉลิมชัย วงษ์อารี1,2 และ รศ.ดร. ศิริชัย กัลยาณรัตน์1,2
1หลักสูตรเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140
2กลุ่ม Postharvest Logistics ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรุงเทพฯ 10400
จากภาวะน้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทยในภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน (บางส่วน) และภาคกลาง เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ทำให้ประชาชนไทยหลายสิบล้านคนต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนผลิตผลเกษตรเพื่อนำมาปรุงอาหารสำหรับประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ปัญหานั้นเกิดกับผลิตผลเกษตรทั้งในด้านการผลิตในแปลงปลูกและด้านโลจิสติกส์หลังการเก็บเกี่ยว โดยอุทกภัยครั้งนี้ทำให้เส้นทางการคมนาคมสำคัญๆ ทั้งของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จนไม่สามารถสัญจรไปได้กว่า 300 เส้นทาง ซึ่งส่งผลต่อการกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่มือประชาชน
ก่อนอื่นขออธิบายความหมายของ ‘โลจิสติกส์’ (Logistics) ก่อน โลจิสติกส์หมายถึงกิจกรรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเคลื่อนย้าย, จัดเก็บ, การเก็บรักษา และกระจายสินค้า จากแหล่งที่ผลิต จนสินค้าได้มีการส่งมอบไปถึงแหล่งที่มีความต้องการ โดยกิจกรรมดังกล่าว จะต้องมีลักษณะเป็นกระบวนการแบบบูรณาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมในการกระจายสินค้าให้ต่ำที่สุด
โลจิสติกส์สินค้าเกษตร
ปัญหาในภาคการเกษตรของไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาในเรื่องโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน โดยทั้งนี้ระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ของภาคการเกษตรนี้ล้วนแล้วแต่มีความยากทั้งจากตัวผลิตผลเอง การบริหารจัดการ และขาดการใช้วิทยาการด้านการโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก กลุ่มยุโรปมีค่าโลจิสติกส์คิดเป็นร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product: GDP) ส่วนสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP สำหรับญี่ปุ่นเนื่องจากสภาพประเทศเป็นเกาะ ค่าโลจิสติกส์จึงสูงขึ้นถึงร้อยละ 11 ของ GDP ในขณะที่ค่าโลจิสติกส์ของจีน อยู่ที่ร้อยละ 18 ของ GDP ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์เป็นค่าขนส่งร้อยละ 50 (สูงกว่าประเทศอื่นสองเท่า) ส่วนประเทศไทยในปัจจุบันมีต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 18-19 ของ GDP ในขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคการเกษตรสูงถึงร้อยละ 21-25 ของ GDP ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยระบบโลจิสติกส์ของไทยยังจัดอยู่ระดับโลกที่สาม (Third World Logistics Level) ซึ่งจะสัมพันธ์กับการจัดลำดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งไทยก็ยังอยู่ในลำดับที่ 32 จากการจัดอันดับของธนาคารโลก
ปัญหาสำคัญๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์ของพืชผลทางการเกษตรมีความยุ่ง ยากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ก็คือ
- 1.ธรรมชาติของผลผลิตทางการเกษตรเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ พืชสวน หรือปศุสัตว์ ส่วนมากจะเป็นผลผลิตที่ออกเป็นฤดูกาล การเก็บเกี่ยวพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก ทำให้อุปทานล้นตลาด การใช้ห้องเย็นยืดอายุผลผลิตก็ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อราคาผลิตผลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
- 2.ส่วนใหญ่ผลผลิตทางการเกษตรเป็นของสด เน่าเสียได้ง่าย จำเป็นต้องอาศัยหรือพึ่งพาระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูง เพราะไม่เพียงแต่ต้องควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมให้ได้ในแต่ละช่วงของการ เคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม และกระจายผลผลิตแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขอนามัย หรือเรื่องของความสะอาดอีกด้วย
- 3.ขาดองค์ความรู้ในด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร การจัดการในเรื่องอย่าง “Cold Chain Management” ในการกระจายสินค้าจึงไม่ถูกนำไปใช้ในภาคการเกษตรอย่างเป็นระบ
วิกฤตการณ์น้ำท่วมกับโลจิสติกส์สินค้าเกษตรภายในประเทศ
สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบกับการค้าส่งผักและผลไม้ และสินค้าทางการเกษตรหลายชนิด มีปัจจัยหลักมาจากพื้นที่เพาะปลูกพืชผักถูกน้ำท่วม ถนนหลายสายถูกตัดขาด ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก สินค้าหลายชนิดในซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด ตลาดสด ขาดแคลน จนทำให้ผู้บริโภคต้องประสบปัญหาหาซื้อสินค้าไม่ได้และราคาสูงขึ้น
- 1.ผลผลิตทางการเกษตรลดลงเนื่องมาจากพื้นที่ปลูกได้รับความเสียหาย ปัญหาน้ำท่วมทำให้ผลผลิตพืชไร่และพืชสวนหลาย ๆ ชนิดฤดูกาลปีนี้มีปริมาณลดลง ขาดตลาดเนื่องจาก แหล่งผลิตใน นครปฐม ปทุมธานี อยุธยา สิงค์บุรี นครสวรรณ พิษณุโลก สุโขทัย และหลายจังหวัดทางภาคเหนือได้รับความเสียหาย จนต้องมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมีการนำผักและผลไม้นำเข้าจากจีนมาชดเชย ตามความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ไทย-จีน
- 2.เส้นทางการขนส่งถูกตัดขาดจากน้ำท่วม ทั้งสายจากทางภาคเหนือและอีสาน รวมไปถึงสายใต้บางสาย การขนส่งก็ต้องใช้เส้นทางอ้อมกว่าจะขึ้นมาถึงตลาดปลายทางตามภาคต่าง ๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายน้ำมันให้คนขับรถมากขึ้น และผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเองก็หายไปหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ ที่ถูกน้ำท่วมหนัก
- 3.ตลาดรวบรวมและตลาดค้าส่ง เช่น ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง รวมไปถึงศูนย์กระจายสินค้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็น้ำท่วมหรือน้ำล้อมรอบ ทำให้สินค้าที่ถูกจัดส่งไปแหล่งขายยังภูมิภาคต่าง ๆ ประสบปัญหาการกระจายสินค้า ตลาดสี่มุมถูกน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนตุลาคม ส่วนตลาดไทถูกน้ำท่วมประมาณร้อยละ 10 ทำให้ยอดการจำหน่ายผักของตลาดไทลดลงร้อยละ 50 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผักกิน ใบ เช่น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง และต้นหอม ส่วนผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าหลักของตลาดไทสินค้าหายไปร้อยละ 30-40 สำหรับสินค้าที่หายไปจากตลาด ได้แก่ มะม่วง กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า ที่ปลูกมากใน จ.ปทุมธานี และส้มโอ จาก จ.พิจิตร
- 4.สินค้ามีการถูกยกเลิกการสั่งซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าน้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ จนเป็นปัญหาลูกโซ่ เพราะพ่อคนกลางที่เคยรับซื้อสินค้าก็ไม่มีที่วางจำหน่าย ทำให้ชาวสวนจึงต้องรีบระบายสินค้าไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อราคาของผลไม้เนื่องจากมีคุณภาพที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ ถูกน้ำท่วมทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาควันออกเฉียงเหนือถูกน้ำท่วมกำลังการซื้อจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นซื้อผลไม้ส่วนใหญ่จึงมาจากกรุงเทพฯ และภาคใต้เป็นหลัก
วิกฤตการณ์น้ำท่วมกับโลจิสติกส์สินค้าเกษตรของไทยกับต่างประเทศ
1. การนำเข้าและการส่งออกสินค้าเกษตร
ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตผักและผลไม้ และการเกษตรของไทยเป็นวงกว้าง ผลิตผลหลายชนิดเริ่มขาดแคลนจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีการนำเข้าสินค้าเกษตรค่อนข้างมากภายหลังไทย-จีนได้เปิดเส้นทางสาย R3a เพื่อใช้ลำเลียงขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยช่วงวิกฤติปัญหาน้ำท่วม ปริมาณการนำเข้าผักสดจากจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่เป็นผักกินใบ อาทิ บร็อกคอลี่ กะหล่ำดอก ถั่วหวาน และถั่วลันเตา ทั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังตลาดไทซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วมตัดขาด ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจ หากนำเข้ามาแล้วไม่มีแหล่งรองรับและกระจายสินค้า ถ้าเก็บไว้นานสินค้าอาจเน่าเสียได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับการนำเข้าผลไม้จากจีนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแอปเปิ้ล สาลี่ ทับทิม ลูกพลับ และส้มจีน เป็นต้น ซึ่งสามารถเก็บได้นาน การกระจายผลไม้ที่นำเข้ายังสามารถกระจายได้ในตลาดพื้นที่ภาคเหนือ
ส่วนการส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ทางเรือหรือเครื่องบินนั้น ปริมาณสินค้าส่งออกลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30 และสินค้าที่ต้องขนส่งข้ามจังหวัด เช่น ข้าว ที่มาจากทางภาคกลางและภาคอีสานก็จำเป็นต้องเลื่อนส่งมอบสินค้า ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังบริษัทเดินเรือขนส่ง การจองระวางเรือถูกยกเลิกหรือขอเลื่อนออกไปเพราะสินค้าไม่สามารถนำมาส่งขึ้นเรือได้
2. การขนส่งสินค้า
ในเขตภาคกลางเกือบทั้งหมดและภาคตะวันออกต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่สูงพอเท่านั้นจึงจะเข้าไปรับสินค้าในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังได้ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองเพราะเดิมใช้เพียงรถบรรทุกเล็ก เส้นทางบางสายน้ำท่วมสูงมากรถวิ่งไม่ได้ก็ทำให้การขนส่งเส้นทางนั้นชะงักไปด้วย ผลที่จะตามมาคือมีรถขนส่งสินค้าวิ่งน้อยลง มีปัญหาขาดแคลนรถตามมา และอีกปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการวิตกมากคือ การส่งมอบสินค้าให้ได้ตามกำหนดเวลาในสัญญาว่าจ้าง บางบริษัทจำเป็นต้องส่งทางเครื่องบินแทนซึ่งทำค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า
3. ขาดแคลนเชื้อเพลิง
ปั๊มจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงปิดตัวลงหลายปั๊ม ทำให้มีปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการขนส่ง โดยเฉพาะเชื้อเพลิง NGV (Natural Gas for Vehicles) ซึ่งสถานีแม่ที่จ่ายก๊าซถูกน้ำท่วมจำนวน 5 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่ง ของการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย
4. ความขาดแคลนวัตถุดิบ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นกินวงกว้างถึงอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกน้ำท่วมด้วย เพราะประสบปัญหาด้านการขนส่ง และขาดแคลนวัตถุดิบ บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์อาหารบางบริษัทต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราวในช่วงน้ำท่วมเนื่อจากไม่มีวัตถุดิบ หลายโรงงานแล้วและต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแทนซึ่งทำ ให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก
ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโลจิสติกศ์สินค้าเกษตรหลังน้ำท่วม
1. การใช้องค์ความรู้ทางด้านโลจิสติกส์ หรือวิทยาการทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม ช่วยยืดอายุไม่ให้ผลิตผลออกมาล้นตลาดในช่วงเดียวกันมากเกินไป ซึ่งรวมไปถึงการทำตลาดซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าอันจะทำให้การวางระบบการขนส่ง และกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ศุลกากร และโรงเก็บสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งที่ปกติควรประหยัดค่าใช้จ่ายมาก เช่น ทางรถไฟ และทางน้ำ โดยอัตราค่าขนส่งสินค้าภายในประเทศของไทย พอจะประมาณได้ดังนี้ ทางน้ำคิดเป็น 0.24 บาท/ตัน/กิโลเมตร, ทางรถไฟ 0.57 บาท/ตัน/กิโลเมตร, ทางถนน 1.20 บาท/ตัน/กิโลเมตร และทางเครื่องบิน 8.30 บาท/ตัน/กิโลเมตร
วิกฤตินํ้าท่วมทำให้การขนส่งสินค้าในหลายเส้นทางหลักถูกตัดขาดไม่เพียงแต่ต้องปรับเส้นทางการขนส่งเท่านั้น การปรับเปลี่ยนพาหนะที่ใช้ในการขนส่งเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การใช้เรือเข้าไปรับส่งสินค้าในจุดที่นํ้าท่วมมากในระดับที่รถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปรับ-ส่งสินค้าได้ หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนสถานที่รับสินค้า ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะต้องทำเป็นแผนเมื่อเกิดภัยภิบัติขึ้นมาอีก
3. ควรกระจายความเสี่ยงซัพพลายเชน อุทกภัยใหญ่ครั้งนี้ภาคโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบมากจากการที่ศูนย์กระจายสินค้า/ตลาดรวบรวมส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและปริมณฑล ซึ่งถูกน้ำท่วมทั้งหมด เมื่อรถบรรทุกมารับสินค้าไปไม่ได้ ห้างค้าปลีกหรือตลาดค้าปลีกก็ขาดสินค้าวางจำหน่าย ดังนั้นควรจะต้องจัดระบบใหม่กันทั้งหมด ให้ศูนย์กระจายสินค้ากระจายอยู่ทั่วไปมากกว่านี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เช่นที่ตลาดสินค้าเกษตรศรีเมือง จ. ราชบุรี ที่ช่วยกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้
4. การบริหารข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร ต้องสะดวกรวดเร็วและชัดเจน มีระบบเทคโนโลยีสาร สนเทศที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ให้สูงขึ้น ต้องมีเครือข่ายที่เชื่อมต่อทั้งในประเทศและกับต่างประเทศอย่างทั่วถึง และเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ตั้งแต่แหล่งวัสดุ โรงงานผลิต จนถึงผู้ซื้อ และมีมาตรฐานที่เป็นสากล เพื่อมิให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่สูญเสีย สามารถประหยัดต้นทุนสินค้าได้
จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมานี้ บัดนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะได้ศึกษา และแก้ปัญหาเงื่อนไขข้อจำกัดดังที่กล่าวมานี้ ด้วยการจัดการและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตรอย่างเป็นระบบและจริงจังเหมือนประเทศอื่นๆ เสียที
ข้อมูลอ้างอิง
1. ข้อจำกัดภาคการเกษตรกับระบบโลจิสติกส์ [วันที่ 19 ต.ค. 2552 ], คอลัมน์: BreakThough: ข้อจำกัดภาคการเกษตรกับระบบโลจิสติกส์, ทรานสปอร์ต เจอร์นัล (http://www.pandinthong.com/ViewContent.php?ContentID=4527)
2. นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน, โลจิสติกส์ และการบริหารจัดการการเกษตร, นิตยสาร Logistics Time ฉบับที่ 42 เดือนมกราคม 2551
3. พิมพ์พิมล ดวงมี, โลจิสติกส์กับการเกษตร, Logistics and Agriculture (http://www.praruttanatri.com/LGM651/wb/viewthread.php?tid=274)
4. นวลศรี โชตินันทน์, การจัดการระบบโลจิสติคเพื่อลดต้นทุนสินค้าเกษตรและความเสียหายก่อนถึงผู้บริโภค, จดหมายข่าวผลิใบ, กรมวิชาการเกษตร (http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n12/v_11-dec/rai.html)
5. นระ คมนามูล, โลจิสติกส์ (Logistics): ตอนที่ 1 ความหมาย โลจิสติกส์ ในด้านการขนส่ง(http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?pageid=1&bookID=589&read=true&count=true )
6. น้ำท่วมกระทบตลาดค้าส่งผักผลไม้ยอดอืด, พิษณุโลกฮอตนิวส์ (http://www.phitsanulokhotnews.com/5892)
7. น้ำท่วมพ่นพิษทำผักแพงกระฉูด “ภูมิ”สั่งรับมือหวั่นช่วงกินเจป่วน, ASTVผู้จัดการรายวัน (21 กันยายน 2554 01:03 น.) (http://www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120021)
8. สุวิภา บุษยบัณฑูร น้ำท่วมพ่นพิษ! ผัก-ผลไม้ราคาพุ่ง-สินค้าไม่มีที่ระบาย (http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=82346:2011-09-05-08-12-03&catid=216:2011-03-07-07-53-38&Itemid=607 )
9. น้ำท่วมกระทบผักและผลไม้หดหายไปจากตลาดไท 40%, ธุรกิจ-การค้า, (http://www.economicthai.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1547:-40&catid=37:busness&Itemid=154 )
10. น้ำท่วมกระทบผักเสียหายดันราคาพุ่พรวด, ธุรกิจ-การค้า, (http://www.economicthai.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1442:2011-09-21-02-44-17&catid=37:busness&Itemid=154 )