คุมอุณหภูมิรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิยังคงทนความหอม

ประเทศไทยมีการส่งออก ข้าวหอมมะลิ ไปขายยังตลาด ต่างประเทศปีหนึ่ง มีมูลค่านับล้านๆ บาท บ่อยครั้ง ที่มีเหตุทำให้ ต้องชะลอการส่งออก ซึ่งทำให้ต้องขยายระยะเวลา การเก็บที่เนิ่นนานออกไป ส่งผลทำให้คุณภาพ ของข้าวลดลง

นายบรรเจิด สมหวัง ผอ.สำนักจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แจ้งมาว่า “ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้านำโดย ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทาง ในการแก้ปัญหาข้าวด้อยคุณภาพ อันเนื่องมาจากการเก็บไว้นาน”

เกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องนี้ ศ.ดร.สมชาติ กล่าวว่า “เดิมในสมัยก่อนการเก็บข้าวเปลือกจะเก็บไว้ในฉาง โรงเรือน แต่หากเก็บไว้ไม่ดีก็จะมีปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมอด แมลง กลิ่นอับ ดังนั้น เกษตรกรบางรายจึงนำไป (ขาย) ฝากไว้ตามโรงสี ซึ่งถ้าดูแลดี ข้าวแห้งแบบเหมาะสม ก็จะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ต่อมาภายหลังได้มีการนำไซโล ซึ่งทำมาจากแผ่นเหล็กม้วนขึ้นรูปเป็นทรงกระบอกเข้ามาใช้ในโรงสีบ้านเรา”

ทั้งนี้ทั้งนั้นไซโลเหล็ก โดยทั่วไปจะตั้งกลางแดด ส่งผลให้อากาศ ที่อยู่ในไซโลเหล็กมีการไหลวน อันเนื่องมาจากความร้อน ที่ได้รับจากแสงอาทิตย์ และเมื่อข้าวเก็บไว้นานหลายๆ เดือนก็จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การไหลวนเวียนของอากาศ ภายในกองข้าวที่อยู่ในไซโล เกิดความควบแน่นในบางส่วน ส่งผลทำให้เกิดความเสียหาย และทำให้ข้าวเหลือง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ข้าวฟันหนู” ในเชิงพาณิชย์ถือเป็นข้าวที่เสียแล้ว ไม่เหมาะแก่การบริโภค ส่งผลทำให้ราคาซื้อขายตกลงมาก

จากผลที่เกิดขึ้นคณะวิจัยจึงได้วิเคราะห์ เพื่อหาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า “ต้องทำให้อุณหภูมิภายในกองข้าวเย็นอยู่ในอากาศประมาณ 18-20 ํC” ซึ่งอุณหภูมิดังกล่าวจะทำให้เมล็ดพืช หรือข้าวมีการหายใจน้อยลง เมื่อการไหลเวียนของอากาศน้อยลง ความควบแน่นของน้ำอันเนื่องมาจาก การไหลวนเวียนของอากาศก็จะลดน้อยตาม

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัย จึงได้สร้างเครื่องทำความเย็น ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ จะเป็นของที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนสร้างราคาไม่สูง เสร็จแล้วนำไปติดตั้ง เพื่อทดสอบที่ชุมนุมสหกรณ์ การเกษตรเมืองเพชรบุรี ที่โรงสีข้าวพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ โดยขนาดที่สร้างเครื่อง จะยึดความจุของไซโลคือ 250 ตัน เครื่องทำความเย็น 10 ตัน หรือประมาณ 120,000 บีทียู/ชม. สร้างท่อปล่อยลมสำหรับต่อใต้ฐานไซโล ทำการเปิดเครื่องที่อุณหภูมิ ใช้เวลาประมาณ 5 วัน อุณหภูมิภายในกองข้าวจะลดลงอยู่ที่ 18-20 ํC และเมื่อผ่านไป 30-45 วัน (ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาด้านค่าไฟฟ้า เท่ากับ 31.31 บาท/ตันข้าวเปลือก) จึงเริ่มเปิดเครื่องทำความเย็นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ใช้เวลา 1-2 วัน ก็จะได้ อุณหภูมิที่กำหนดไว้

จากการทดลองผลที่ออกมาพบว่า เมื่อนำข้าวมาสีจะได้ข้าวที่เป็นเมล็ดค่อนข้างดี ไม่เหลือง มีการหักน้อย ในกรณีของข้าวหอมมะลิ ซึ่งความหอมถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อนำมาเก็บที่อุณหภูมิดังกล่าว จะช่วยทำให้กลิ่นของข้าวที่มีความหอมเฉพาะตัวอยู่ได้นาน และเมื่อนำเครื่องตัวนี้เอาไปใช้ในการเป่าลมเย็นเข้าไปในกองข้าว (ปัจจุบันโรงสีข้าวทั่วไปจะใช้ลมร้อนอบแห้ง) ที่ยังไม่แห้งสนิทสามารถจะช่วยลดความชื้นได้ อีกทั้งยังช่วยรักษาความสดหลังเก็บเกี่ยว

ที่สำคัญ ป้องกันการทำลายของแมลงโดยไม่ต้องอบสารเคมี เพิ่มเปอร์เซ็นต์ข้าวต้น และยังลดการสูญเสียน้ำหนักแห้งได้ดี.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2546