โดย นายพิเชษฐ์ น้อยมณี นักวิชาการ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผักและผลไม้ของประเทศไทยเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการส่งออก เป็นที่รู้จักดีทั้งด้านคุณภาพ และรสชาติเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก โดยมีปริมาณการส่งออกมากกว่า 7 แสนตัน มูลค่าประมาณ 420 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2552 ที่มีการส่งออกมากกว่า 9 แสนตัน มูลค่ามากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดหลักในการส่งออกผักและผลไม้ไทยที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ตลอดจนประเทศแถบตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป (European Union; EU) เป็นอีกกลุ่มประเทศที่ผู้ส่งออกของประเทศไทยมีโอกาสในการส่งสินค้าทางเกษตรเข้าไปเปิดตลาดใหม่ และสามารถเพิ่มยอดขาย รักษากำไรและราคาคงไว้ให้แก่ผักและผลไม้ไทย แต่ยังมีอุปสรรคอีกมากมายที่ทำให้ไม่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดสหภาพยุโรปได้ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางภาษา ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม รูปแบบในการบริโภค เงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันในการซื้อขายของแต่ละประเทศในสหภาพยุโรป ตลอดจนภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของผักและผลไม้ไทยในตลาดสหภาพยุโรปในด้าน คุณภาพและความปลอดภัย การพบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL (Maximum Residue Limits) ในผักและผลไม้ที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ การตรวจพบจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตปนเปื้อน การปลอมปนผลิตผลที่ไม่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในด้านการผลิต คุณภาพและความปลอดภัยของผักและผลไม้ไทยลดลง อีกทั้งระบบการขนส่ง (Logistics) ในการส่งผักและผลไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรปนั้นมีระยะทางในการขนส่งไกลมากกว่า 9,000 กิโลเมตร ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่งผักและผลไม้ไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการในสหภาพยุโรปได้เฉพาะทางเครื่องบินเท่านั้น ในปัจจุบันผู้ส่งออกจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศ (Air freight) เป็นเงินจำนวนมากถึงกิโลกรัมละประมาณไม่น้อยกว่า 100 บาท ส่งผลให้ราคาผลิตผลไทยที่ขายในตลาดยุโรปมีราคาสูงจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ทั้งยังส่งผลต่อผู้ผลิตถูกกดราคาให้ขายผลิตผลในราคาที่ต่ำเพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ส่งออก เพราะทางเลือกในการขนส่งเส้นทางอื่นต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งเป็นระยะเวลานานเป็นผลเสียต่อผักและผลไม้เพราะเกิดการสูญเสียจากโรคหรือแมลง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวระหว่างการขนส่งได้
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันผักและผลไม้ไทยในตลาดร่วมยุโรปให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้นั้น การพัฒนาทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตผลไทยเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้แก่ผักและผลไม้ไทยในระดับสากลทั้งตลาดบน (High End Markets) และตลาดล่าง (Low End Markets) ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่ทำให้ผลิตผลทางเกษตรไทยไม่สามารถส่งออกไปสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้นั้น เนื่องมาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. การตรวจรับรองมาตรฐาน (Certifications) กระบวนการจัดการผลิตผลทางเกษตรของไทยในปัจจุบัน มีขั้นตอนและวิธีการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของระบบมาตรฐานในระดับสากล ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของกระบวนการผลิตไม่เป็นที่ยอมรับ ขาดการจัดการตามกระบวนการด้านความปลอดภัยที่ถูกต้อง ขาดการจดบันทึกการทำงาน ตลอดจนขาดการควบคุมดูแล ด้านการใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากไม่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหรือระบบมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการ จะทำให้ไม่สามารถส่งออกผลิตผลไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้ ปัจจุบันการส่งออกผลิตผลเกษตรเพื่อขายให้แก่บริษัทห้างร้านเอกชนในตลาดร่วมยุโรปนั้น บริษัท ผู้ส่งออกตลอดจนผู้ผลิตจะต้องได้รับการตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GlobalGAP จากบริษัทที่เป็นที่ยอมรับก่อนการส่งออก
2. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest Technology) ผักและผลไม้เขตร้อนเป็นพืชที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวอย่างรวดเร็ว อายุการเก็บรักษาสั้น ง่ายต่อการเน่าเสีย และมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวอยู่ตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนแปลงสีของผิว การเปลี่ยนแปลงของกลิ่น การเปลี่ยนแปลงความแน่นของเนื้อสัมผัส เป็นต้น ทำให้การส่งออกไปยังตลาดที่มีระยะทางไกล เช่น ตลาดสหภาพยุโรปนั้น ประสบปัญหาในการรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวให้คงคุณภาพไว้ดังเดิม ส่งผลต่อศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ และเพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้นานขึ้น การพัฒนา เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเป็นสิ่งที่จำเป็น
3. การจัดการระบบขนส่ง (Logistics) ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ขั้นตอนการขนส่งจากฟาร์มจนถึงผู้บริโภคนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่ความเย็นโดยตลอด (Unbroken Cold Chain) การปฏิบัติงานส่วน ใหญ่จะใช้รถกระบะหรือรถบรรทุก 6 ล้อที่ไม่มีระบบควบคุมอุณหภูมิในการขนส่ง โดยจะใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแสงแดดทดแทนการใช้ รถบรรทุกที่ควบคุมอุณหภูมิ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว โดยการสะสมความร้อนที่เกิดขึ้นภายในกองผลิตผล (Hot spot) การสั่นสะเทือน (Vibration) ที่เกิดขึ้นนั้น ไปเร่งกิจกรรมและปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี การเกิดโรค และเร่ง การเสื่อมคุณภาพของผลิตผลระหว่างการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่จะสามารถผลักดันให้สินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญประการแรก ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก (Supply side) จะต้องเร่งตอบสนอง ความต้องการในฝั่งของผู้ซื้อ (Demand side) ด้วยการผลิตให้ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ผู้ซื้อต้องการ โดยมุ่งเน้นการตรวจรับรองมาตรฐาน (Certifications) ผลิตผลทางเกษตร ที่ส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรป ในปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการผลิตผลที่ ผ่านการรับรองมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมสินค้าหลายชนิด ทั้งกลุ่มพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ชา กาแฟ รวมถึงข้าว กลุ่มปศุสัตว์และประมง เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีสวัสดิภาพด้านแรงงานด้วย จึงทำให้ผู้ผลิตทั่วทุกมุมโลกต้องปรับตัวให้ผ่านการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การส่งผลิตผลไปสู่ชั้นวางใน Supermarket ต้องดำเนินการตามกฏระเบียบของแต่ละประเทศที่ตั้งขึ้นมา โดยข้อกำหนดการเข้า สู่ตลาดสหภาพยุโรป (Market Access Requirements) แบ่งออกเป็น กฎระเบียบ (Legal requirements) กำหนดสำหรับสินค้าอาหารที่จะวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็จะไม่ให้นำเข้า หรือ อาจจะถูกถอดถอน (withdrawal) ออกจากตลาดในทันที ยกตัวอย่างเช่น ระเบียบการกำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุดในอาหาร (Maximum residue levels (MRLs) in food stuffs : Regulation (EC) ที่ 396/2005) เป็นต้น อีก ส่วนหนึ่งได้แก่ ข้อกำหนดเพิ่มเติม (Additional requirements หรือ Nonlegislative requirements) เป็นข้อกำหนดที่นอกเหนือจากกฏระเบียบ ซึ่งกำหนดโดยภาคเอกชน ยกตัวอย่างเช่น ระบบมาตรฐาน GlobalGAP (หรือเดิม EurepGAP) หากจะเข้มงวดขึ้นอาจจะเน้นสินค้า เกษตรอินทรีย์ (organic/bio products)
ระบบมาตรฐานที่มีความสำคัญต่อการส่งออกในปัจจุบัน เป็นที่ ยอมรับในทุกประเทศในด้านกระบวนการผลิตตั้งแต่ในฟาร์มจนกระทั่งการคัดบรรจุเพื่อการส่งออก และเป็นหนทางผลักดันผลิตผลไทยไปสู่ตลาดสหภาพยุโรป คือ ระบบมาตรฐาน GlobalGAP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก เป็นผลจากการรวมกลุ่มกันของผู้ค้าปลีกชั้นนำในยุโรป มีสมาชิกหลักๆ รวมกันมากกว่า 40 ราย ได้กำหนดเงื่อนไขและข้อกำหนดมาตรฐานวิธีการปฏิบัติด้านการผลิตทางการเกษตรที่เรียกว่า GlobalGAP ในปี 2550 เป็นมาตรฐานประเภทสมัครใจ (Voluntary scheme) GlobalGAP ไม่ใช่ระเบียบของทางสหภาพยุโรป แต่เป็นมาตรฐานหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมที่จัดทำโดยภาคเอกชน ซึ่งได้อ้างอิงข้อกำหนดส่วนใหญ่ตามระเบียบของสหภาพยุโรป พร้อมมีข้อกำหนดบางอย่างมีความเข้มงวดสูงกว่า เช่น การกำหนดระดับสูงสุดของสารตกค้างใน
อาหาร (MRLs) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมในเชิงการยอมรับซึ่งกันและกันที่จะ ผลักดันให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก (Suppliers) ทั้งในยุโรปและนานาประเทศที่มีความต้องการส่งสินค้าประเภทผักและผลไม้ไปยังสมาชิกผู้ค้าปลีกในยุโรป โดยจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและผ่านการรับรองก่อนจึงจะส่งสินค้าไปขายยังตลาดยุโรปได้ โดยหัวใจหลักของขั้นตอนการพิจารณาตามระบบมาตรฐาน คือ กระบวนการจัดการในฟาร์มผลิตดังกล่าว ต้องไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายเกินกำหนด ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทั้งในประเทศและของตลาดต่างประเทศ และกระบวนการผลิตในฟาร์มจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตและคนทำงานจะต้องได้รับการดูแลให้มีความปลอดภัย ตลอดจนผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค นอกจากนั้นผลิตผลจะต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยตรงตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐาน
เอกสารอ้างอิง
– เอกสาร General regulations integrated farm assurance Version 3.1 Nov 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) All farm base Version 3.0-2_Sep 07
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Crops base Version 3.0-3_Feb 09
– เอกสารControl Points and Compliance Criteria (CPCC) Fruit and vegetables Version 3.0-2_Sep 07 www.globalgap.org