ระบบอบแห้งพลังงานสะอาดสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 54
ระบบอบแห้งพลังงานสะอาดสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป

ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช แห่งหน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม(RCME) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และคณะวิจัยร่วมกันพัฒนาระบบอบแห้งอเนกประสงค์เชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟ ร่วมระบบสุญญากาศ : กรณีศึกษา : ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หลังจากที่คณะผู้วิจัยได้นำเทคโนโลยีไมโครเวฟในกระบวนการทางความร้อนมาเผย แพร่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกในวงกว้างต่อ อุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาวะวิกฤติพลังงานและสิ่งแวดล้อมในขณะนี้

ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่จะนำมาอบแห้งจะต้องคงสภาพทางกายภาพ และคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รสชาติ ใกล้เคียงผลิตภัณฑ์เดิมก่อนนำมาผ่านกระบวนการให้มากที่สุด ดังนั้นระบบที่คณะวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นจะต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูงตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล รวมทั้งเน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ภายในประเทศและใช้งบประมาณในการสร้างต่ำ เพื่อใช้ทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าได้เป็นอย่างดี

ระบบอบแห้งโดยใช้ไมโครเวฟร่วมระบบสุญญากาศ ที่คณะของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ พัฒนาขึ้นมีลักษณะเด่นคือ อุณหภูมิอบแห้งต่ำ ทำให้รักษาสภาพดั้งเดิมของวัสดุไว้ และไม่มีออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยากับวัสดุ อีกทั้งสามารถคงคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รส ที่แปรเปลี่ยนจากดั้งเดิมน้อยมากและผลิตภัณฑ์ที่สูญเสียในกระบวนการมีน้อยมาก จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเพื่อส่งออก นอกจากนี้ยังร่นระยะเวลาในกระบวนการอบแห้งเหลือเพียง 1 ใน 6 เท่า เมื่อเทียบกับกระบวนการอบแห้งด้วยวิธีทั่วไป ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานอย่างมหาศาล ที่สำคัญคือ ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนเครื่องทำแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze Drier) ที่ประเทศไทยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศคิดเป็นเงินนับพันล้านบาทต่อปี

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตอบสนองภาคการผลิตภายในประเทศ และได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 2 รายการ คือ ระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับ ระบบสุญญากาศ และ ระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังสูงร่วมกับระบบสุญญากาศ รวมทั้งได้ข้อมูลการวิจัยซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่มีลักษณะเฉพาะชิ้นแรกของ ประเทศไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

ผลงานวิจัยโครงการนี้ สามารถคว้ารางวัลผลงานวิจัยประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2554 ระดับดี สาขาวิศวกรรม ศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ผลงานวิจัยนี้เป็นโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน ซึ่งมีประสิทธิภาพเชิงพลังงานสูงกว่าระบบทั่วไปประมาณ 3-6 เท่า และมีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 8 เท่า การควบคุมระบบและการซ่อมบำรุง สามารถทำได้โดยบุคลากรภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มหาศาล เช่นกันในงานวิจัยระดับเชิงลึก ผู้วิจัยถือว่าเป็นกลุ่มผู้นำของโลกกลุ่มหนึ่งที่ได้นำเสนอแนวทางวิจัยใหม่ฯ ในเทคโนโลยีนี้ ซึ่งส่ง ผลกระทบวงกว้างในระดับสากล.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=659&contentID=114449