วิจัย แมลงศัตรูมะพร้าว กำจัดเด็ดขาด โดยชีวินทรีย์
มะพร้าว ซึ่งเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกตัวหนึ่ง ในช่วงปี 2552-2553 ที่ผ่านมา พื้นที่การปลูกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชหลายชนิดระบาดเข้าทำลายต้นมะพร้าวอย่างรุนแรง ทำให้ต้นมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และบางต้นตาย ส่งผลให้ราคามะพร้าวสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าที่จำเป็นจะต้องใช้มะพร้าวเป็นส่วนประกอบของ อาหารคาวหวาน ต้องขึ้นราคาตามไปด้วย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการสัมมนาพร้อมกับเผยแพร่งานวิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับ "แมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลายต้นมะพร้าวและวิธีการใช้ชีวินทรีย์เข้ากำจัดอย่างเด็ดขาด" เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร ปลายเดือนธันวาคม 53
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้ดำเนินการวิจัยแมลงศัตรูมะพร้าว ประกอบด้วย แมลงดำหนามมะพร้าว Brontispa longissima หนอนหัวดำ Opisina arenosella หนอนร่านพาราซ่า Parasa lepida ที่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์
ในการดำเนินงานควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรและ ผู้เกี่ยวข้องควรรู้จักชีววิทยา ลักษณะการทำลาย และ ศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืชดังกล่าว เพื่อจะได้เลือกใช้วิธีการควบคุมและการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวและไม่มีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ การควบคุมโดยชีววิธี ด้วยการ ใช้แมลงตัวห้ำ แมลงตัวเบียน และ เชื้อจุลินทรีย์
ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาของแมลงศัตรูมะพร้าวทั้ง 3 ชนิด โดย แมลงดำหนามมะพร้าว เป็นแมลงศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมมากที่สุดเนื่องจากบริเวณที่เกิดการระบาดล้วนเป็นแหล่งธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว การใช้สารเคมีกำจัดแมลงอาจก่ออันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ จึงควบคุมโดยชีววิธีมาใช้ด้วยการนำแตนเบียนหนอน Acecodes his pinarum Boucek (Hymenoptera: Eulophidae) จากประเทศเวียดนาม เข้ามาใช้ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่า แมลงหางหนีบ Chelisoches morio F. เชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae และ เชื้อราขาว Beauveria bassiana สามารถช่วยลดประชากรของแมลงดำหนามมะพร้าวได้
สำหรับ หนอนหัวดำ Opisina arenosella Walker เป็นแมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลายต้นมะพร้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง โดยระยะตัวหนอนกัดแทะผิวใบที่คลี่แล้วและใบแก่ และสร้างเส้นใยรวมกับมูลและใบมะพร้าวที่กัดแทะ แล้วสร้างเป็นทางยาวคล้ายอุโมงค์ห่อหุ้มลำตัวไว้ เมื่อเริ่มเข้าดักแด้จะถักเส้นใยหุ้มลำตัวอย่างแน่นหนาติดกับใบมะพร้าวและเข้าดักแด้ภายในนั้นส่วนใหญ่ตัวหนอนเข้าทำลายด้านใต้ใบมะพร้าว จึงได้นำ แมลงศัตรูธรรมชาติที่สำรวจพบในแปลงปลูกมะพร้าว เช่น แมลงหางหนีบ แตนเบียน และ แมลงช้างปีกใส มาทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงหนอนหัวดำ
และตัวสุดท้าย หนอนร่านพาราซ่า (Lepidoptera: Limacodidae) เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญของมะพร้าวและพืชวงศ์ปาล์ม รวมทั้งไม้ยืนต้นอีกหลายชนิด ซึ่งพบการระบาดในพื้นที่ปลูกมะพร้าวอย่างกว้างขวางปี 2552-2553 โดยกัดกินใบมะพร้าวขาดแหว่งเหลือแต่เส้นกลางใบ ถ้าหนอนระบาดรุนแรงจะกัดกินใบเหลือแต่เส้นกลางใบเหมือนไม้กวาด ผลการวิจัยแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ มวนตัวห้ำ เข้าทำลายระยะหนอน ส่วน แตนกาเหว่า และ แมลงวันก้นขน เข้าทำลายระยะดักแด้
เมื่อผลวิจัยทั้งหมดสำเร็จแล้ว ทางศูนย์ยังได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ มวนตัวห้ำ แตนเบียนหนอน และ แมลงหางหนีบ รวมทั้งยังเพาะ เชื้อราเขียว และ เชื้อราขาว ซึ่งศัตรูธรรมชาติดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมแมลงศัตรู มะพร้าวที่กำลังระบาดอย่างเด็ดขาดทันที
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 มกราคม 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/140113