แมลงวันทอง ภัยเกษตรกร ศัตรูพืชตัวร้าย ที่หวาดกันทั้งโลก

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 54
แมลงวันทอง ภัยเกษตรกร ศัตรูพืชตัวร้าย ที่หวาดกันทั้งโลก

เมื่อหลายวันก่อน คุณจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แจ้งข่าวให้กับทีมงาน "หลายชีวิต" ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไปนั้น บ้านเราจะหยุดส่งผักผลไม้อย่างกะเพรา โหระพา พริก มะเขือขื่น ผักชีฝรั่ง ฯลฯ ไปยัง สหภาพยุโรป (EU) ชั่วคราว

ต้นสายปลายเหตุนั้นก็เพราะว่า หลังตลาดปลายทางสุ่มตรวจสินค้าที่ส่งออกไปนั้น พบว่ายังมีภัยร้ายของเกษตรกรติดเข้าไปหลายชนิด ซึ่งหนึ่งในนี้ก็คือ "แมลงวันผลไม้" หรือ "แมลงวันทอง" ที่ชะแว้บ แอบแฝงติดไปด้วย


"แมลงวันทอง" Bactrocera dorsalis (Hendel) เป็นศัตรูที่สำคัญของพืชผักผลไม้ คาดว่า มีมากกว่า 800 ชนิดที่พบในเขตภาคพื้นทวีปเอเชีย และกระจัดกระจายอยู่ในเขตหนาว เขตอบอุ่น และเขตร้อน เข้าทำลายทุกส่วนของพืชได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนดอก ใบ ลำต้น รวมทั้งราก ในผลไม้ที่มีเปลือก บางหรืออ่อนนุ่ม เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน มะเฟือง น้อยหน่า และ ไม้ผลชนิดต่างๆ มากกว่า 50 ชนิด ล้วนเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ทั้งสิ้น ซึ่งพวกมันสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณประชากรจากพืชอาศัยชนิดต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นได้เกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน การแพร่ขยายพันธุ์ของมันนั้นนับเป็นอุปสรรคต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากทำให้ผลผลิตเสียหายเน่าเสียแล้ว ยังเป็นปัญหาต่อการส่งออกผลผลิตไปยังกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายกักกันพืชเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอียู

ศัตรูตัวร้ายเคลื่อนไหวค่อนข้างช้า หาอาหารในเวลาเช้า ชอบหลบตามร่มเงาในเวลาบ่ายหรือเวลาแดดร้อนจัด ผสมพันธุ์ในเวลาเย็นตอนพลบค่ำ วางไข่ในเวลากลางวัน โตเต็มวัย มีสีน้ำตาลปนดำ แดง แถบสีเหลืองที่ส่วนอก ปีกบางใสสะท้อนแสง ช่วงวัยนี้กินน้ำหวาน โปรตีน วิตามิน ที่มีในสิ่งขับถ่ายของแมลง และน้ำยางจากแผลต้นไม้เป็นอาหารเพื่อใช้ประทังชีวิตประมาณ 10 วัน หลังออกจากดักแด้ จึงเริ่มวาง ไข่ เฉลี่ยวันละ 50 ฟอง ลักษณะสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ผิวเป็นมัน สะท้อนแสง รูปร่างคล้ายผลกล้วย อาศัยอยู่ในผลไม้เพียง 2-3 วัน จะกลายเป็น หนอน ระยะนี้ สีลำตัวจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับผลไม้ที่ชอนไชอยู่ โตเต็มที่มีสีขาวทึบแสง รูปร่างกลมยาวรี หัวแหลม ท้ายป้าน ไม่มีขา เคลื่อนที่ด้วยการยืดหดลำตัว รวมทั้งใช้วิธี "ดีดกระเด็น" ที่แต่ละครั้งจะไปได้ไกลประมาณ 30 เซน-ติเมตร เพื่อหาทำเลที่พักพิงที่เหมาะสมสำหรับ เข้าสู่ดักแด้ตามพื้นดินลึกประมาณ 2–5 เซนติเมตร ประมาณ 10-12 วัน จึงขึ้นมาสู่โลกภายนอกพร้อมปีกที่งอกใหม่

พวกมันสามารถวางไข่ได้ตลอดอายุ 90 วันที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกกลมๆใบนี้ ระยะโตเต็มวัยเป็นระยะเดียวที่เกษตรกรสามารถกำจัดแมลงนี้ได้ หากทำการพ่นสารฆ่าแมลงให้ถูกตัว หรือทำการพ่นเหยื่อพิษล่อแมลงวันผลไม้

แต่วิธีนี้ "เกษตรกรหัวก้าวหน้า" ในบ้านเราเลิกใช้มาค่อนข้างนาน ส่วนหนึ่งนอกจากต้องการลดต้นทุน ยังเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตผลให้ได้มาตรฐาน ปลอดสารตกค้าง แล้วหันมาใช้ กับดักสารล่อแมลง ห่อผลด้วยถุงพลาสติก รวมทั้งใช้หลักการชีววิถี คือปล่อยแตนเบียน คู่อริตัวฉกาจ เพื่อเก็บกินไข่แมลงวันผลไม้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 มกราคม 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/140306