พัฒนาเครื่องอบฯ "พลังสะอาด" ลดต้นทุน-เร็ว 6 เท่า คุณภาพสูง

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 54
พัฒนาเครื่องอบฯ "พลังสะอาด" ลดต้นทุน-เร็ว 6 เท่า คุณภาพสูง

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบอบแห้งอเนกประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ให้คงสภาพทางกายภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และคงไว้ซึ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้มากที่สุดภายหลังผ่านกระบวนการ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้อย่างมากมายมหาศาลแล้ว ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และทีมวิจัย จึงร่วมกันพัฒนาเครื่องอบแห้งนี้ ที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าการอบแห้งธรรมดาถึง 6 เท่า อีกทั้งกระบวนการทำงานยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย


ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ หน่วยวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรม (RCME) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล บอกว่า ตนและคณะวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาระบบอบแห้งอเนกประสงค์เชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟร่วมระบบสุญญากาศ กรณีศึกษา : ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

"สิ่งที่จะนำมาอบแห้ง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม สมุนไพร และผลิตผลการเกษตร ที่จะต้องคงสภาพทางกายภาพ คุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รสชาติ ใกล้เคียงกับของเดิมก่อนนำมาผ่านกระบวนการให้มากที่สุด ดังนั้น ระบบที่เราพัฒนาขึ้นจึงต้องมีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งเน้นใช้วัสดุที่มีอยู่ในประเทศ และใช้งบประมาณในการสร้างต่ำ เพื่อทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าได้เป็นอย่างดี"

ลักษณะเด่นเครื่องนี้ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์บอกว่า อุณหภูมิอบแห้งต่ำ ทำให้รักษาสภาพดั้งเดิมของวัสดุไว้ และไม่มีออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยากับวัสดุ อีกทั้งคงคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น รส ที่แปรเปลี่ยนจากเดิมน้อยมาก จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง นอกจากนี้ยังร่นเวลาในกระบวนการอบแห้งเหลือเพียง 1 ใน 6 เท่า เมื่อเทียบกับการอบแห้งด้วยวิธีทั่วไป ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานอย่างมหาศาล ที่สำคัญระบบที่พัฒนาขึ้นนี้นำมาใช้ทดแทนเครื่องทำแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze Drier) ที่ไทยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศคิดเป็นเงินนับพันล้านบาทต่อปี

งานวิจัยนี้เป็นเชิงสหวิทยาการและบูรณาการ เนื่องจากได้ผลลัพธ์ในหลายมิติ แรกคือองค์ความรู้เชิงลึกด้านการถ่ายเทความร้อนและมวลในวัสดุพรุนขณะมีการเปลี่ยนสถานะ และกระบวนการเชิงความร้อนภายใต้พลังงานไมโครเวฟ ซึ่งนำไปตอบปัญหาในเชิงปฏิบัติได้โดยนำไปประยุกต์ออกแบบระบบเชิงอุตสาหกรรม อีกทั้ง เป็นการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตอบสนองภาคการผลิตภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

"ได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว 2 รายการ คือ ระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสุญญากาศ และระบบอบแห้งเชิงพาณิชย์โดยใช้ไมโครเวฟกำลังสูงร่วมกับระบบสุญญากาศ ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นผลงานที่มีลักษณะเฉพาะชิ้นแรกของไทยที่นำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันบริษัท ศรีพิพัฒน์ เอนจิเนียริ่ง ที่ร่วมวิจัยโครงการนี้ได้นำระบบไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของบริษัทได้ผลเป็นอย่างดี" ศ.ดร.ผดุงศักดิ์แจงและว่า ยังมีบริษัทเอกชนอื่นหลายรายที่ประสงค์จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้

ทว่า สิ่งที่การันตีความสามารถของเครื่องนี้ได้ดีที่สดุ ก็คือโครงการนี้ คว้ารางวัลผลงานวิจัยประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2554 ระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศ.ดร.ผดุงศักดิ์กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้เป็นโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน มีประสิทธิภาพเชิงพลังงานสูงกว่าระบบทั่วไป 3-6 เท่า มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 8 เท่า การควบคุมระบบและการซ่อมบำรุงทำได้โดยบุคลากรภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มหาศาล

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110111/85229/พัฒนาเครื่องอบฯพลังสะอาดลดต้นทุนเร็ว6เท่าคุณภาพสูง.html