เพิ่มค่ามูลสุกรทำปุ๋ยอินทรีย์ สูตรสำเร็จจาก "ฟาร์มบัวขาว"
แม้จะมีดีกรีปริญญาด้านการเกษตร แต่ "วรพจน์ สัจจาวัฒนา" เจ้าของฟาร์มสุกรบัวขาวใน ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ก็ไม่ได้หวังความก้าวหน้าในอาชีพมนุษย์เงินเดือน หลังสะสมประสบการณ์ในการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ไม่กี่ปีก็ได้ลาออกมาลงทุนทำกิจการฟาร์มสุกรเป็นของตัวเองในปี 2527 โดยเริ่มจากแม่สุกรเพียง 15 ตัว จนปัจจุบันมีแม่สุกรทั้งสิ้นกว่า 700 ตัว
ความที่เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ยึดหลักเกษตรผสมผสาน ต้องการนำสิ่งเหลือใช้จากฟาร์มมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้วันนี้เศษวัสดุเหลือใช้จากฟาร์มสุกรบัวขาวสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะมูลสุกรที่เขาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ผลิตเป็นแก๊สหุงต้มและกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มเพื่อลดต้นทุน ส่วนกากมูลสุกรหลังผ่านกระบวนการผลิตแก๊สก็นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ใกล้เคียง
วรพจน์บอกว่าแม้ทางฟาร์มจะเน้นจำหน่ายลูกสุกร สนนราคา 2,000 บาทต่อลูกสุกรน้ำหนัก 20 กิโลกรัมแก่เกษตรกรที่สนจใจเพื่อนำไปขุนต่อ แต่รายได้หลักของฟาร์มกลับมาจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลสุกร ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์มีไม่พอจำหน่าย เนื่องจากมีเกษตรกรที่สนใจสั่งออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก วัตถุดิบจากฟาร์มมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องตระเวนหาซื้อมูลสุกรจากฟาร์มสมาชิกในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย
"มีนักวิชาการด้านปุ๋ยท่านหนึ่งบอกผมว่าปุ๋ยขี้สุกรเหมาะสำหรับใส่พืชผักทุกชนิด เพราะมีธาตุอาหารเกือบครบทุกตัว ขาดเฉพาะไนโตรเจน ทางเจ้าหน้าที่ สกย.เองก็ได้แนะนำเช่นกันว่าให้ใส่ปุ๋ยขี้สุกรผสมกับปุ๋ยเคมีกับต้นยางพารา ผมก็เลยเอาไปทดลองดูที่สวนยางพาราใกล้บ้าน ปรากฏว่าต้นยางงามดีมาก ทำให้ผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ละแวกนี้จะนิยมใส่ปุ๋ยขี้สุกรกันมาก โดยเฉพาะต้นยางแรกปลูกถึง 3 ปี ชาวบ้านที่มาซื้อปุ๋ยส่วนใหญ่ก็นำไปใส่ต้นยางพารา สนใจติดต่อ 08-1790-4191" เจ้าของฟาร์มสุกรบัวขาวเผย พร้อมระบุว่าส่วนราคาจำหน่ายสนนราคากิโลกรัมละ 5 บาท หรือกระสอบละ 120 บาทต่อน้ำหนัก 25 กิโลกรัม
ขณะที่ ทรงธรรม จั่นทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสวนสงเคราะห์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวระหว่างนำเครือข่ายชาวสวนยางพาราจากทั่วประเทศกว่า 100 คนเยี่ยมชมฟาร์มสุกรบัวขาว โดยระบุว่าต้องการให้ผู้นำเครือข่ายชาวสวนยางมาดูกระบวนการบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรเพื่อนำไปประยุกต์ในอาชีพทำสวนยางพาราในพื้นที่ของตัวเอง โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลสุกรใช้กับสวนยางเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
"เกษตรกรที่ทำสวนยางพารา เลี้ยงสุกรในสวนยางแล้วก็รวมกลุ่มนำมูลสุกรมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพใส่ต้นยาง ได้ทั้งอาชีพเสริม มีทั้งรายได้แล้วก็ลดต้นทุนในเรื่องค่าปุ๋ยค่ายาได้ด้วย ที่นี่ถือเป็นต้นแบบของ สกย.ให้แก่ชาวสวนยางในการทำเกษตรกรผสมผสาน ไม่ใช่แค่ปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว" ทรงธรรมเผยระหว่างผู้นำเครือข่ายชาวสวนยางดูการบริหารจัดการฟาร์มสุกรบัวขาว
ปัจจุบันฟาร์มสุกรบัวขาว นอกจากเป็นฟาร์มต้นแบบในการบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรและรู้จักประยุกต์ใช้เศษวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบัวขาวและใช้เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 18 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110118/85946/เพิ่มค่ามูลสุกรทำปุ๋ยอินทรีย์สูตรสำเร็จจากฟาร์มบัวขาว.html