ผนึกกำลังจัดระบบปลูกข้าว
"ข้าว” พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงคนในชาติและส่งออกไปขายต่างชาติ สร้างชื่อเสียงและเงินตราเข้าประเทศปีละมหาศาล แต่ชาวนาส่วนใหญ่กลับต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ทุกข์ยาก ต้องมีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของภัยธรรมชาติ ศัตรูข้าวทำลายผลผลิตเป็นประจำทุกปี รายได้ไม่พอกับต้นทุนที่ลงไป ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ให้คลี่คลาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดทำ โครงการระบบปลูกข้าวขึ้นมาใหม่ โดยเน้นการบริหารจัดการที่จะส่งผลให้ชาวนาไทยมีความเข้มแข็ง สามารถปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 เห็นชอบโครงการจัดระบบการปลูกข้าว โดยมีสาระสำคัญจากกรณีเกษตรกรมีการปลูกข้าวต่อเนื่องทันที หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวจนทำให้มีการทำนาถึงปีละ 3 ครั้งหรือ 5 ครั้งใน 2 ปี และปลูกข้าวไม่พร้อมกันในบริเวณพื้นที่เดียวกัน หรือในเขตโครงการชลประทานเดียวกัน ส่งผลกระทบหลากหลายด้านตามมา โดยเฉพาะเรื่องปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชระบาดรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น โครงการจัดระบบปลูกข้าวใหม่จะช่วยในการวางแผนการปลูกข้าวของเกษตรกรให้เหมาะ สม แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง โครงการจัดระบบการปลูกข้าวปี 2554 ขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 300 คน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมการข้าว มีความรู้ในเรื่องของรายละเอียดโครงการ เพื่อวางแผนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โครงการจัดระบบการปลูกข้าวปี 2554-2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบการปลูกข้าวให้มีการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยงดเว้นการปลูกข้าวแบบต่อเนื่องทั้งปีให้มีการใช้นํ้าไม่เกินปริมาณนํ้า ต้นทุนที่มีอยู่ ตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว และรักษาระบบนิเวศในนาข้าวให้มีความสมดุล โดยมีเป้าหมาย 9 ล้านไร่ พื้นที่ 22 จังหวัด หรือมีพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการส่งนํ้าและบำรุงรักษาทั้ง 22 จังหวัด รวมพื้นที่จัดระบบปีละ 3 ล้านไร่
สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่
1. กำหนดทางเลือกระบบการปลูกข้าวตามช่วงเวลาใหม่เป็น 4 ระบบ คือ ระบบ ที่ 1 คือ ข้าวนาปี-ข้าว นาปรัง-พืชหลังนา ระบบที่ 2 คือ ข้าว นาปี-ข้าวนาปรัง-เว้นปลูก ระบบที่ 3 คือ ข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนาปรัง ระบบที่ 4 คือ ข้าวนาปี-เว้นปลูก-ข้าวนาปรัง โดยเกษตรกรสามารถเลือกระบบที่แตกต่างจากระบบการปลูกข้าวทั้ง 4 ระบบดังกล่าวได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชุมชนในพื้นที่โครงการส่งนํ้าและ บำรุงรักษา ซึ่งจะมีคณะกรรมการ ในแต่ละโครงการเป็นผู้พิจารณา
2. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา พืชปุ๋ยสด พืชอื่น ๆ และปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยชนิดพันธุ์พืชหลังนา ให้เกษตรกรเป็นผู้เลือกเองโดยเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำทางวิชาการและความเป็นไป ได้ในการปลูก
3. เกษตรกรที่ร่วมโครงการที่ไม่เลือกปลูกพืชหลังนา จะได้รับคำแนะนำส่งเสริมให้มีการเริ่มต้นทำนาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในแต่ละโครงการส่งนํ้าและบำรุงรักษา
4. มีการจัดสรรนํ้าควบคุมการระบายนํ้าให้เป็นไปตามแผนของการจัดระบบการปลูกข้าว
5. ช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชหลังนาที่เกิดจากการจัดระบบการปลูกข้าว
6. ผ่อนปรนดอกเบี้ยและเลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ โดยหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดระบบปลูกข้าวใหม่มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ในส่วนของเกษตรกรต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม และผลตอบแทนจากการปลูกข้าวมากขึ้นเพราะละเว้นการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เสี่ยงจากการขาดแคลนนํ้า การปะปนของ ข้าววัชพืช และการระบาดของศัตรูข้าว เป็นผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกส่วนหนึ่งคือประเทศชาติมีการบริหารจัดการนํ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนิเวศในพื้นที่นาเขตชลประทานดีขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิตพืชไร่บางชนิดและทดแทนการนำเข้า และลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=116126