"จุลินทรีย์" ปรับดินเปรี้ยวลดต้นทุน 50%
ศูนย์พิกุลทองทดลองคัดแยกเชื้อจุลินทรีย์ในแปลงแกล้งดิน จนได้เชื้อจุลินทรีย์ผสม “ปุ๋ยชีวภาพ” ใช้ปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด เพิ่มผลผลิตพืช ลดต้นทุนเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 50%
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษา วิจัย คัดแยกและคัดเลือกจุลินทรีย์ที่ทนต่อกรดในพื้นที่แปลงทดลองแกล้งดิน เพื่อเป็นแนวทางนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์พิกุลทองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ กรมพัฒนาที่ดินนำตัวอย่างดินภายในแปลงทดลองแกล้งดิน บริเวณแปลง 4 และแปลง 6 ซึ่งเป็นแปลงที่มีพืชพรรณธรรมชาติ ไปคัดแยกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ด้านการเกษตร พบว่าแยกเชื้อจุลินทรีย์ได้ 8 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษพืช 2.กลุ่มจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนแบบอิสระ 3.กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายโปรตีนและไขมัน 4.กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายฟอสเฟต 5.กลุ่มจุลินทรีย์ผลิตฮอร์โมน 6.กลุ่มจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช 7.กลุ่มยีสต์ 8.กลุ่มแลคโตบาซิลลัส โดยได้นำทั้ง 8 กลุ่ม รวมเป็นเชื้อจุลินทรีย์ผสมเรียกว่า ปุ๋ยชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม จากการนำปุ๋ยชีวภาพที่ได้ไปทดลองการปลูกข้าว ข้าวโพดหวาน และผักคะน้า ของศูนย์พิกุลทองพบว่า ปุ๋ยชีวภาพที่ขยายในปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ช่วงเตรียมดินซึ่งดินเปรี้ยวจัด สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมี โดยมีผลทำให้ลดอัตราการใส่ปูน ปุ๋ยเคมี ระหว่าง 50-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต พืชแข็งแรง ช่วยฟื้นฟูดิน อีกทั้งช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดข้าว ข้าวโพดหวาน ผักคะน้า รวมถึงลดอัตราการเกิดโรครากเน่าของพืชดังกล่าวด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 20 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110120/86132/จุลินทรีย์ปรับดินเปรี้ยวลดต้นทุน50.html