แนะ 3 กุญแจแก้จนแบบพอเพียง สศก.เปิดผลศึกษาระบบฟาร์มตามแนวทฤฎีใหม่/ย้ำช่วยเกษตรกรได้จริง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ทำการศึกษารูปแบบการทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นให้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งผลการศึกษา เกษตรกรที่ทำฟาร์มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงส่วนใหญ่ จะทำงานในฟาร์มของตนเองเป็นหลักกิจกรรมในฟาร์มของเกษตรกรมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างพืชอายุสั้น พืชอายุยาว สัตว์และประมง ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยในแต่ละปีเกษตรกรมีรายได้เงินสดในการเกษตรเฉลี่ย 246,957 บาทต่อครัวเรือน หรือเฉลี่ย 63,160 บาทต่อคนต่อปี สูงเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับรายได้วัดความยากจน 18,948 บาทต่อคนต่อปี โดยรายได้จากการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 74 ของรายได้เงินสดทั้งหมดครัวเรือน
จากการเปรียบเทียบทิศทางการเปลี่ยนแปลงรายได้และเงินออมของครัวเรือนในปีที่ 1 และปีที่ 2 พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเพิ่มขึ้น 11,455 บาทต่อครัวเรือน และเงินออมเพิ่มขึ้น 40,073 บาทต่อครัวเรือน โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการเกษตรเพียงอย่างเดียวก็ สามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ ส่วนด้านหนี้สินพบว่า มีลดลงค่อนข้างมาก คือ จากเดิมที่เคยมีหนี้สิน 86,275 บาท/ครัวเรือน ลดลงเหลือ 49,005 บาท/ครัวเรือน สำหรับการใช้ผลผลิตในฟาร์มนำมาบริโภคในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 35.68 ของมูลค่ารวมของการบริโภคอาหารทั้งหมดของครัวเรือน และในรอบปีมีรายได้กระจายตัวถึง 11 เดือน
สำหรับกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เกษตรกรต้องขยัน ประหยัด อดออม ใฝ่รู้ กล้าคิด ค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมั่นคง รวมทั้งมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ 2.รูปแบบการผลิตหรือกิจกรรมที่เหมาะสมตามขนาดฟาร์มและแรงงานในครัวเรือน เน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและสามารถเก็บเป็นอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนได้ และ 3. แหล่งน้ำเสริม เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ตลอดปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 20 มกราคม 2554
http://www.naewna.com/news.asp?ID=245480