ไทย-ออสเตรเลีย จับมือพัฒนาการค้าสินค้าเกษตร หลังข้อมูลชี้ มูลค่าส่งออกระหว่างประเทศพุ่งร้อยละ 16 ต่อปี
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายเจมส์ โจเซฟ ไวส์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ณ ห้องรับรองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ทำให้สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรระหว่างสองประเทศ เป็นไปในทิศทางที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าในปี 2547 ก่อนความตกลง TAFTA มีผลบังคับใช้ มีมูลค่าเพียง 20,643 ล้านบาท และในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 32,859 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตระหว่างปี 2547-2552 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าทางการค้าแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทั้งในส่วนของการผลิตและสินค้าเกษตรไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นปัจจุบันอย่างใกล้ชิดกันต่อไปผ่านทางกลไกของคณะทำงานร่วมสาขาต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งจะจัดให้มีการประชุม ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2554 ณ กรุงแคนเบอร์รา อันถือเป็นเวทีที่จะรับทราบผลและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานภายใต้ TAFTA ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาเกี่ยวกับข้อผูกพันของการเปิดตลาดสินค้า ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยเวทีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ และเป็นแนวทางในการขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมถึงด้านสินค้าเกษตรด้วย
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรระหว่างไทยและออสเตรเลียครั้งล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่จังหวัดกระบี่ กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร จำนวน 7 สาขา โดยให้ลำดับความสำคัญกับโครงการ Establish Network on Organic Production between Thailand and Australia เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นโครงการที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หลายหน่วยงาน มีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางออสเตรเลียยินดีส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์มาประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม 2554 เพื่อเป็นวิทยากรในการสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในส่วนของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและ มาตรฐานอาหาร ซึ่งเป็นเวทีการหารือเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และมาตรฐานอาหาร รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการผลักดันการดำเนินงานด้านต่างๆ ผ่านคณะกรรมการร่วมทุกชุดจะทำให้การค้ามีการขยายตัวมากขึ้น รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามฝ่ายไทยยังมีความประสงค์ที่จะประสานความร่วมมือทางวิชาการ เกี่ยวกับการบริหารจัดการโคนมภายใต้สภาวะโลกร้อน ที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เพื่อช่วยเกษตรกรไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งออสเตรเลียมีความยินดีจะให้การสนับสนุนโดยจะประสานความร่วมมือผ่านทางคณะทำงานร่วมฯ ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 มกราคม 2554
http://www.naewna.com/news.asp?ID=245688