เทพทาโร ไม้หอมเศรษฐกิจที่สำคัญ
กรมป่าไม้นอกจากมีภารกิจหลักในเรื่องป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า การรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าให้กลับคืนมาเป็นสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีบทบาทในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากไม้ในเชิงเศรษฐกิจของไม้แต่ละชนิดด้วย ซึ่งเป็นภารกิจที่นักวิจัยของกรมป่าไม้ ทำการค้นคว้าวิจัย ทั้งนี้ ไม้เทพทาโร ก็เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่กรมป่าไม้ให้ความสำคัญในการวิจัยและส่งเสริมให้ ประชาชนนำไปปลูกเพื่อเสริมรายได้
นายทรงศักดิ์ วิทยอุดม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กล่าวว่า ไม้เทพทาโร จัดอยู่ในวงศ์ Lauraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum porrectum เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เนื้อไม้และรากมีกลิ่นหอม พบว่าได้มีการนำไม้เทพทาโรมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยใช้ทำเครื่องหอม ประทินผิว ธูปหอม ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยา นอกจากนี้ยังใช้ในการก่อสร้าง เครื่องเรือน ของใช้ เชื่อว่าป้องกันตัวเรือด ตัวไร มอด แมลงต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันไม้เทพทาโรนำมาใช้ประโยชน์ในงานแกะสลักทำประดิษฐกรรมต่าง ๆ และส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อของอำเภอ ห้วยยอด จังหวัดตรัง
สำหรับการดำเนินงานการวิจัยโครงการวิจัยไม้เทพทาโร ไม้หอมเศรษฐกิจ โดยกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย ได้ทำการศึกษาในเรื่องการขยายพันธุ์ พบว่าไม้เทพทาโรมีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ กล่าวคือ เกิดจากการเพาะเมล็ด และการแตกหน่ออ่อนจากราก ซึ่งในธรรมชาติการงอกของเมล็ดต่ำมากเพียง 5-10% และใช้เวลานานถึง 90 วัน แต่จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่าการเพาะเมล็ดให้ได้ผลดีควรจะกำจัดเปลือกและ เนื้อที่หุ้มเมล็ดออกเสียก่อน เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารของราและมด ปัจจุบันได้พัฒนาการเพาะเมล็ดให้งอกได้ถึง 70% โดยใช้เวลาเพียง 12 วัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอนกิ่ง และมีการศึกษาการผลิตกล้าพันธุ์เทพทาโรที่ดีจากการแยกต้นอ่อนที่แตกจากราก หรือการปักชำราก รวมถึงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อที่จะให้ได้กล้าพันธุ์ไม้เทพทาโรที่ดี มีปริมาณที่มาก และรวดเร็วขึ้น
ส่วนการปลูกไม้เทพทาโร แม้จะพบในป่าดิบชื้นทุกภาคของประเทศ แต่จากการศึกษาพบว่าจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้นสูง จึงควรปลูกใต้ร่มไม้อื่น เช่น การปลูกเป็นไม้แซมในสวนป่า หรือการปลูกแซมไม้ผลที่มีอายุไม่ยืนยาวมากนัก เช่น กล้วย ก็จะทำให้มีรายได้จากไม้ผลในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้จากไม้ เทพทาโร โดยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี จากการทดลองปลูกที่ศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคใต้ จังหวัดสงขลา พบว่าต้นเทพทาโรอายุ 1 ปี มีความโตเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.8 เซนติเมตร และเมื่ออายุ 3 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.8 เซนติเมตร และความสูงเฉลี่ย 5.4 เมตร ถือว่าเป็นไม้ที่โตเร็วพอสมควร
ส่วนการใช้ประโยชน์นอกจากเนื้อไม้ที่แข็งปานกลางใช้ในการก่อสร้างเป็นเครื่องเรือนแล้ว งานพัฒนาเคมีผลิตผลป่าไม้ และกลุ่มงานพัฒนาผลผลิตป่าไม้ ยังได้ศึกษาทดลองสารกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากเนื้อไม้ ใบ ราก และผล พบว่า น้ำมันที่กลั่นได้ประกอบด้วยสารแซฟรอล (safrol) มากกว่าร้อยละ 80 มีคุณสมบัติและองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับน้ำมันแซฟซาฟรัสที่กลั่นจากราก ของต้นแซฟซาฟรัส ที่ใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร รูทเบียร์ หมากฝรั่ง ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม สบู่ ยารักษาโรค น้ำยาขัดพื้น สารซักล้าง สารทำความสะอาด ใช้ในน้ำมันนวดตัวอโรมา และสปา ใช้ในการแก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปวดฟัน แก้เจ็บคอ รักษาโรคคางทูม ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคโกโนเรีย นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยเนื้อในเมล็ดเทพทาโรมีโปรตีน 2 ชนิดคือ พอเร็ตติน (porrectin) และซินนาโมมิน (cinnamomin) ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไรโบโซม ในการสร้างโปรตีนเช่นเดียวกับไรซีน และอะบริน อาจจะพัฒนาไปสู่สารยับยั้งโรคพืช หรือยารักษาโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ได้ในอนาคต
ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการสำรวจตลาดในจังหวัดตรังและพังงา พบว่าราคาซื้อขายรากตอไม้เทพทาโรที่เก็บจากป่าราคารถกระบะละ 2,000-3,000 บาท การประดิษฐ์เป็นลูกประคำเส้นละ 700-900 บาท ผู้ประกอบการแกะสลักมีรายได้เดือนละ 4,000-5,000 บาทต่อคน น้ำมันหอมระเหยราคาลิตรละ 10,000-12,000 บาท โดยไม้ 300 กิโลกรัม จะได้น้ำมัน 400 มิลลิลิตร น้ำมันที่ได้จากการบีบผลเทพทาโรราคาลิตรละ 4,000 บาท เมล็ดเทพทาโรปัจจุบันขายกันในตลาดโลกอยู่กิโลกรัมละ 10,700 บาท จึงเห็นได้ว่าไม้เทพทาโรเป็นไม้หอมเศรษฐกิจ อีกชนิดหนึ่งที่กรมป่าไม้ให้ความสนใจ และได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับไม้เทพทาโร สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2561-5498 และชมนิทรรศการไม้เทพทาโร ไม้หอมมงคลมหัศจรรย์ได้ ณ คลินิกป่าไม้ ชั้น 1 อาคารสุรัสวดี กรมป่าไม้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=117022