ปรับปรุงพันธุ์ไหมต้านโรคแกรสเซอรี่
กรมหม่อนไหมเผย โรคแกรสเซอรี่ เป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมเฉลี่ย 30–50% ชี้สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Nuclear Polyhedrosis โดยหนอนไหมสามารถเป็นโรคนี้ได้ทุกวัยโดยเฉพาะวัยอ่อน ขณะนี้กำลังปรับปรุงพันธุ์ไหมไทยชนิดฟักตลอดปีให้มีความต้านทานต่อโรคนี้ที่ ศูนย์ฯ หนองคาย พบลูกผสมทุกคู่มีลักษณะด้านการเจริญเติบโต ความเข็งแรง และผลผลิตอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกันทั้งในฤดูกาลที่อุณหภูมิต่ำและสูง
นายไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ อธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โรคแกรสเซอรี่หรือที่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเรียกกันว่า โรคเต้อ โรคตัวบวม โรคตัวเหลือง โรคกะทิ เป็นปัญหาที่สำคัญในการเลี้ยงไหมของเกษตรกร เนื่องจากโรคนี้สามารถทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงไหมแต่ละครั้งเฉลี่ย 30 -50% หรือในบางครั้งเกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลผลิตจากรังไหมเลย ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อ Nuclear Polyhedrosis Virus (BmNPV) ทั้งนี้ หนอนไหมสามารถเป็นโรคนี้ได้ทุกวัย โดยจะแสดงอาการกินอาหารลดลง ผิวหนังเป็นมัน ลำตัวบวม กระวนกระวายไปมา จากการตรวจสอบพบว่า วัยอ่อนจะมีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคสูงกว่าวัยแก่ โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์ชั้นเดียวใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน เซลล์ประสาท ส่งผลให้หนอนที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะตายภายใน 7 วัน เมื่อหนอนตายผนังลำตัวจะเปราะบาง แตกง่าย และมีน้ำไหลออกมาส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากอวัยวะภายในถูกทำลาย
กรมหม่อนไหมตระหนักถึงปัญหาการเลี้ยงไหมของเกษตรกรที่เกิดจากการระบาดของโรคแกรสเซอรี่ดังกล่าว จึงได้ทำการ ปรับปรุงพันธุ์ไหมไทยชนิดฟักตลอดปีให้มีความต้านทานต่อโรคนี้ โดยการสร้างลูกผสม 4 สายพันธุ์ (Double cross hybrid) จำนวน 6 คู่ผสม เลี้ยงเปรียบเทียบพันธุ์ ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย
ผลการทดลองพบว่า ลูกผสมทุกคู่มีคุณลักษณะด้านการเจริญเติบโต ความแข็งแรงและผลผลิตอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกันทั้งในฤดูกาลที่มีอุณหภูมิ ต่ำและในฤดูกาลที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งคู่ผสมที่มีความโดดเด่น ได้แก่ (สร้างค้อ x SP1) x (นค.04 x นค.012) ซึ่งให้ค่าเปอร์เซ็นต์การฟักออกเฉลี่ยน้ำหนักหนอนไหมโตเต็มที่เฉลี่ย 10 ตัว น้ำหนักรังสด 1 รังเฉลี่ยและน้ำหนักเปลือกรังเฉลี่ยสูงสุด ในขณะที่คู่ผสม (โนนฤาษี x กากี) x (สร้างค้อ x SP1) จำนวนไข่ไหมต่อแม่เฉลี่ยและเปอร์เซ็นต์รังดีเฉลี่ยสูงสุด จึงคัดเลือกลูกผสมทั้ง 2 คู่นี้ไปทดสอบในระดับท้องถิ่นต่อไป
หากผลการทดสอบในระดับท้องถิ่นให้ผลเป็นที่น่าพอใจ กรมหม่อนไหมจะได้พันธุ์ไหมที่ต้านทานโรคและจะได้ทำการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงอย่างแพร่หลายก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตรังไหมและเส้นไหมของประเทศได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งทำให้เกษตรกรลดอัตราความเสี่ยงในการเลี้ยงไหมน้อยลง สร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=117215