หวั่น 'ฟ้ามุ่ยน้อย' สูญพันธุ์

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 54
หวั่น 'ฟ้ามุ่ยน้อย' สูญพันธุ์

ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens Griff.) เป็นพืชหายาก มีการสำรวจในป่าดิบเขาในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและเคยพบพืชชนิดดังกล่าวขึ้นอยู่ในธรรมชาติ ปรากฏว่า ไม่พบฟ้ามุ่ยน้อยเหลืออยู่เลยในป่าธรรมชาติ เนื่องจากผลสำรวจสอดคล้องกับรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่คาดว่าฟ้ามุ่ยน้อยได้
สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติแล้ว

ฟ้ามุ่ยน้อย หรือ เอื้องเข็ม จัดอยู่ในบัญชีพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ตามพันธกรณีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า ที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) ซึ่งฟ้ามุ่ยน้อยเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย มีลำต้นสูง 15-25 เซนติเมตร ใบเป็นรูปแถบ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อตั้ง ตามข้อ ก้านช่อยาว 17-25 เซนติเมตร จำนวน 15-20 ดอก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.7-2 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีม่วงอมฟ้า กลีบปากสีม่วงอมน้ำเงิน ขอบกลีบสีจาง และเส้าเกสรสีขาวนวล โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาวิจัยประชากรของฟ้ามุ่ยน้อยในสภาพ ธรรมชาติ ทั้งยังศึกษาผลกระทบอันเนื่องมาจากการค้าพืชป่า พร้อมเร่งประสานความร่วมมือสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพาะขยายพันธุ์เทียมฟ้ามุ่ยน้อยด้วยวิธีเพาะเมล็ดในอาหารเทียม (seed culture) เพื่อเพิ่มปริมาณมากขึ้น แล้วอนุบาลต้นให้แข็งแรงก่อนนำคืนสู่ป่าธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเดิม ขณะเดียวกันยังมีแผนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายพันธุ์เทียมฟ้ามุ่ยน้อย เพื่อการค้าเพิ่มขึ้น โดยมีการจดทะเบียนผู้ประกอบการสถานที่เพาะเลี้ยงและผู้ส่งออกด้วย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาลักลอบเก็บฟ้ามุ่ยน้อยจากป่าออกมาขาย และปกป้องฟ้ามุ่ยน้อยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากป่าตามธรรมชาติ...

ปัญหาการค้าพืชป่าระหว่างประเทศ ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพืชป่าหายากและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่นักสะสมพันธุ์ไม้มีความต้องการค่อนข้างสูง โดยมีราคาเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านลักลอบเก็บจากป่าธรรมชาติออกมาขาย ส่งผลให้จำนวนพืชป่าหายากลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันจากรายงานผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับพืชป่าของพนักงานเจ้าหน้าที่ ยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้าพืชป่าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและจังหวัดเชียงราย รวมทั้งจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนไทย-ลาว แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามตลาดนัดท้องถิ่นทั่ว ๆ ไป รวมถึงตลาดนัดที่สำคัญในกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการค้าพืชป่าในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการนำสินค้าผิดกฎหมายหมุนเวียนไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ

การเฝ้าระวังและติดตามการลักลอบนำเข้าพืชป่าตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวด เพื่อป้องกันการค้าพืชป่าผิดกฎหมายซึ่งทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากมีช่องทาง ลักลอบนำเข้าหลายช่องทางผู้ลักลอบมีความชำนาญพื้นที่และทำเป็นขบวนการด้วย.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=659&contentID=118334