"ชี" ขาวสะอาดไก่พื้นเมืองไทยพ่อ-แม่พันธุ์ชั้นดีที่ต้องอนุรักษ์

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 54
"ชี" ขาวสะอาดไก่พื้นเมืองไทยพ่อ-แม่พันธุ์ชั้นดีที่ต้องอนุรักษ์

ไก่พื้นเมืองของไทยนั้นมีชื่อเสียงมายาวนาน ตั้งแตยุคสมเด็จพระนเรศวร นั่นแสดงให้เห็นถึงประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลากทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งโคพื้นเมือง ควายพื้นเมือง ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากขึ้น ดังที่ มข.ได้เปิดตัว "ไก่ชี" ไก่พื้นบ้าน พร้อมพัฒนาสายพันธุ์ให้เลี้ยงง่าย ไข่ดก อกกว้าง ขณะเดียวกันเร่งผลิตลูกเจี๊ยบ เพื่อรองรับผู้สนใจต้องการเลี้ยงเชิงธุรกิจ หลังราคาขยับสูงเป็นกิโลกรัมละกว่า 100 บาท


ไก่ชีถือเป็นพันธุ์สัตว์พื้นเมืองอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่นับวันจะหายไปจากท้องไร่ท้องนาของชาวอีสาน สาเหตุสำคัญคือความนิยมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ลดน้อยลง และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ที่หน่วยงานรับผิดชอบต้องป้องกันโรคด้วยการทำลายไก่ ทำให้ไก่พื้นบ้านแทบจะไม่มีเหลือให้เห็น

รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยอมรับว่า จากที่หลายฝ่ายกังวลว่าไก่พื้นเมืองของไทยจะสูญพันธุ์ ในปี พ.ศ.2549 ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ภาควิชาสัตวศาสตร์ฯ กรมปศุสัตว์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงมีแนวคิดรวบรวมพันธุ์ไก่พื้นบ้าน พร้อมปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะกับการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยและการส่งเสริมเชิงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองไว้ไม่ให้หายไปจากสังคมไทย

"ไก่พื้นเมืองที่รวบรวมไว้มี 2 สายพันธุ์คือประดู่หางดำ และไก่ชี โดยเฉพาะไก่ชีสายพันธุ์พื้นเมืองที่พบเห็นทั่วประเทศ ปัจจุบันพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรต้องการเลี้ยงในเชิงธุรกิจมากขึ้น เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ" รศ.ดร.มนต์ชัยแจง

ไก่ชีพันธุ์พื้นเมืองแท้มีลักษณะเด่นคือ สีขาวสะอาดทั้งตัว เป็นไก่ขนาดกลาง ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่ หนัก 3-3.5 กิโลกรัม หากินเก่ง ส่วนตัวเมียจะให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง หนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งทางศูนย์ได้นำไก่ชีมาคัดเลือกโดยคงลักษณะเด่นดั้งเดิมไว้ ขณะนี้ได้รวบรวมพ่อแม่ไก่สายพันธุ์ชีแท้ได้กว่า 600 ตัว สามารถผลิตลูกไก่ได้ปีละกว่า 2,000 ตัว แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

"ศักยภาพของการพัฒนาสายพันธุ์ สามารถผลิตได้มีลักษณะเด่นคือเลี้ยงง่าย ไข่ดก อกกว้าง มีทั้งสายพันธุ์ไก่ชีเนื้อและไก่ชีไข่ โดยไก่ชีเนื้อจะมีไขมันน้อย คอเลสเตอรอลต่ำ หนังบาง รสอร่อย ส่วนไก่ชีไข่จะให้ไข่ได้ถึงปีละ 80-120 ฟอง นอกจากนี้เมื่อนำไก่ชีพื้นเมืองไปผสมกับไก่ทางการค้าของบริษัท ทำให้มีพันธุ์ลูกผสมที่เหมาะกับการเลี้ยงในเชิงธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก 4 สายพันธุ์ คือขาวสร้อยนิล สร้อยเพชร แก่นทอง และไข่มุกอีสาน ซึ่งศูนย์ได้พัฒนาสายพันธุ์เข้าสู่รุ่นที่ 4 แล้ว เมื่อสายพันธุ์นิ่งได้ลูกไก่เหมือนพ่อแม่พันธุ์จะเตรียมนำเผยแพร่สู่เกษตรกร พร้อมจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์เพื่อเป็นลิขสิทธิ์ของไทย" ผอ.ศูนย์กล่าว

สำหรับแนวทางการอนุรักษ์ไก่ชี ทางศูนย์เครือข่ายวิจัยได้สนับสนุนการกระจายพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกรที่สนใจในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ได้นำไปเพาะเลี้ยง เมื่อแม่ไก่ฟักไข่มหาวิทยาลัยจะขอลูกคืนบางส่วน หรือขอคืนพ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรรายอื่นได้นำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ ส่วนมหาวิทยาลัยได้เพาะฟักลูกไก่ชีออกมาจำหน่ายลูกเจี๊ยบ ตัวละ 20 บาท ไก่ชีอายุ 7 วัน ราคา 50 บาท ไก่รุ่น และพ่อแม่พันธุ์ราคาเริ่มต้น ตัวละ 300-1,000 บาท ขึ้นไป

"ตลาดที่รองรับไก่ชีนั้น พบว่ากำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่ต้องการบริโภคอาหารที่ไขมันน้อย และปลอดภัย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ที่รู้จักไก่พื้นบ้านของไทย และมีความต้องการบริโภคไก่ชีมากขึ้น ซึ่งมีราคาขายในตลาดกิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออกไก่ชีจึงถือว่ามีอนาคตสดใส จึงเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้ครอบครัวและชุมชนได้"

เกษตรกรรายใดสนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ที่ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0-4334-2407

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 31 มกราคม 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110130/87353/ชีขาวสะอาดไก่พื้นเมืองไทยพ่อแม่พันธุ์ชั้นดีที่ต้องอนุรักษ์.html