วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ยกระดับ "กุ้งไทย" หนุนใช้ระบบ "ไบโอซีเคียว" คุมโรค
ความเติบโตของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำทั้งด้านผลิตและส่งออกของโลก สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวันนี้ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ซึ่งทดลองการเลี้ยงกุ้งขาว ที่ใช้ระบบไบโอซีเคียว (Bio secure) ภายในฟาร์มสาธิตจนสำเร็จและมั่นใจได้ว่ามีประสิทธิภาพ จึงเร่งผลักดันนำความรู้เชิงวิชาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในกลุ่มเกษตรกรพื้นที่
นายวุฒิพงษ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกกุ้งรายใหญ่ของประเทศ จึงพยายามนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ปฏิบัติจริงเพื่อควบคุมโรคและควบคุมคุณภาพกุ้งให้มีมาตรฐาน หลังจากที่ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งขาว โดยใช้ระบบไบโอซีเคียว (Bio secure) ภายในฟาร์มสาธิตซึ่งเป็นการจัดระบบการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่ ที่ป้องกันโรค ลดความเสียหาย ไม่มีสารตกค้าง สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและตลาดส่งออกต่างประเทศมากขึ้น
"การเลี้ยงกุ้งระบบไบโอซีเคียว เป็นหลักการใช้ระบบการป้องกันเชื้อจุลชีพในการผลิตกุ้ง ซึ่งดำเนินการ 4 ส่วน คือเริ่มจากป้องกัน และสกัดไม่ให้เชื้อเข้าสู่ระบบฟาร์ม เพื่อให้ฟาร์มคงภาวะปลอดเชื้อ มีการสร้างระบบป้องกันการแพร่เชื้อทางภาคพื้นดิน อากาศ และทางน้ำที่ใช้ในระบบฟาร์มกุ้ง ประการที่สอง ตรวจเช็กเชื้อในฟาร์ม เพื่อให้ทราบภาวะปลอดเชื้อ และสกัดความเสี่ยงการแพร่เชื้อเมื่อพบเชื้อในระบบ ประการที่สาม กำจัดและสกัดการแพร่เชื้อโรคในระบบฟาร์ม โดยทำลายกุ้ง ฆ่าเชื้อมวลน้ำ และที่อยู่ของกุ้ง สุดท้ายสร้างระบบบันทึก โดยมีหลักฐานครบถ้วน ทั้งการประชุมประเมินความเสี่ยง แผนปฏิบัติการ การปฏิบัติการ ผลการปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหา เพื่อคงภาวะปลอดเชื้อและประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้ระบบไบโอซีเคียว"
นายวุฒิพงษ์กล่าวอีกว่า ในตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม มาเลเซียมีการนำมาใช้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย กระทั่งวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาทดลองใช้จนมั่นใจได้ว่าดำเนินการได้ผลดีจริง จึงต้องการผลักดันให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างจริงจัง โดยวิทยาลัยพร้อมเปิดฟาร์มสาธิตการเลี้ยงกุ้งระบบไบโอซีเคียว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังสืบสานปณิธาน ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตามแนวทางของ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์
"การนำความรู้เชิงวิชาการมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการปฏิบัติจริงและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ด้วย โดยวิทยาลัยพร้อมเปิดฟาร์มสาธิตเพื่อเผยแพร่ ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนต่อไป" นายวุฒิพงษ์กล่าว
ด้าน นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย จ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรบางรายเริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบและให้ความรู้อย่างถูกต้อง กระทั่งวิทยาลัยประมงฯ พร้อมที่จะให้ความรู้เผยแพร่ข้อมูลแก่เกษตรกร โดยมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างแน่นอน
"เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติไม่ได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้นัก เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาด เช่น โรคหัวเหลืองระบาดและโรคจุดขาวระบาด รวมถึงเรื่องสารตกค้างในกุ้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งนี้มั่นใจว่าเทคโนโลยีไบโอซีเคียวจะเข้ามาช่วยเหลือปัญหาดังกล่าวได้" นายครรชิตกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110201/87436/ว.ประมงติณสูฯยกระดับกุ้งไทยหนุนใช้ระบบไบโอซีเคียวคุมโรค.html