เปิดโรงงานแปรรูปยางอีสาน กำลังผลิต 2 หมื่นตันกระจาย 3 จว. รองรับผลผลิตโครงการล้านไร่
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ให้องค์การสวนยางดำเนินโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า โดยก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 พร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี จำนวน 3 แห่ง ที่ จ.นครพนม อุดรธานี และศรีสะเกษ พร้อมสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตอีก 6 แห่ง ใน จ.พะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย และนครพนม เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคายางและรองรับผลผลิตจากเกษตรกร ชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
"ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ประมาณ 3 ล้านไร่ เป็นสวนยางกรีดยาง 0.69 ล้านไร่ ให้ผลผลิตเกือบ 200,000 ตัน ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ยางพาราในโครงการหนึ่งล้านไร่จะเริ่มกรีดได้และจะกรีดได้หมดภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีผลผลิตมากกว่า 500,000 ตัน ซึ่งหากราคายางไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรที่มีสวนยางพารากรีดได้ 10 ไร่ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 250,000 - 300,000 บาทต่อปี"
อนึ่ง การเลือกที่ตั้งของโรงงานยางแท่ง STR 20 ทั้ง 3 แห่ง องค์การสวนยางได้พิจารณาพื้นที่ที่มีเหมาะสม ทั้งด้านความเป็นศูนย์กลางของบริเวณที่ปลูกยางพาราของแต่ละจังหวัดติดต่อกัน รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมที่สะดวกต่อการนำวัตถุดิบเข้าโรงงาน และนำผลผลิตขายประเทศจีนหรือต่างประเทศ ตลอดจนการได้มาของที่ดิน โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 ที่ จ.นครพนม เป็นแห่งแรก สามารถรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในเขต จ.นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่สวนยาง1ประมาณ 600,000 ไร่ ส่วนแห่งที่สอง ที่ จ.อุดรธานี รองรับผลผลิตในเขต จ.อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และสกลนครบางส่วน ครอบคลุมพื้นที่ 600,000 ไร่ และที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแห่งที่สาม รองรับผลผลิตในเขต จ.ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ยโสธ และอำนาจเจริญ ครอบคลุมพื้นที่ 500,000 ไร่เศษ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.naewna.com/news.asp?ID=247329