ไทยเร่งถก "เอฟทีเอ" อินเดีย เล็งขยายตลาดส่งออกเพิ่ม-ดันสร้างท่าเรือระนองชนคู่แข่งอาเซียน

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 54
ไทยเร่งถก "เอฟทีเอ" อินเดีย เล็งขยายตลาดส่งออกเพิ่ม-ดันสร้างท่าเรือระนองชนคู่แข่งอาเซียน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การเจรจาการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย ได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง หลังจากที่มีการตกลงลดภาษีสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme) จำนวน 82 รายการ ที่ได้ทยอยลดภาษีเหลือ 0% แล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยเป็นกลุ่มสินค้าเพียง 11 รายการ เช่น ผลไม้ ข้าวสาลี ปลากระป๋อง ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นจาก 10.6 ล้านบาทในปี 2547 ก่อนเริ่มลดภาษี เป็น 29.7 ล้านบาทในปี 2548 และทะยานสูงขึ้นเป็น 95.8 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2553 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงคือ องุ่นสด

นอกจากนั้น ไทยและอินเดียยังมีความตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดียอีกกรอบหนึ่งด้วย โดยมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2553 ซึ่งในส่วนของการค้าสินค้าเกษตรไม่รวมยางพาราในช่วงปี 2550-2553 พบว่า ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีจากเดิม 2,804 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 8,681 ล้านบาท ในปี 2553 โดยสินค้าสำคัญคือ น้ำตาล แต่การนำเข้ามีทิศทางไม่แน่นอน โดยนำเข้า 6,356 ล้านบาทในปี 2550 และเพิ่มเป็น 13,778 ล้านบาทในปี 2551 ก่อนจะทยอยลดลงเหลือ 9,586 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดียนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเปิดตลาดไม่เต็มที่ โดยยังมีกลุ่มสินค้าที่ไม่ลดภาษี กลุ่มสินค้าอ่อนไหว และสินค้าที่ลดภาษีช้ากว่าปกติ ประกอบกับการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกับไทย

ดังนั้น การผลักดันการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยและอินเดีย จึงเป็นเวทีที่ไทยจะผลักดันการเปิดตลาดให้ดีกว่ากรอบอาเซียน-อินเดีย ซึ่ง สศก. อยู่ระหว่างจัดทำรายการสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2550-2552 เพื่อจัดทำเป็นกลุ่มรายการที่จะร้องขอให้อินเดียเปิดตลาดเพิ่ม โดยจะต้องนำไปพิจารณาว่าเป็นกลุ่มที่อินเดียยังลดภาษีไม่เต็มที่หรือไม่ เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนต่อไป

"สินค้าที่จะจำหน่ายในตลาดนี้ได้ต้องเป็นสินค้าคุณภาพ ซึ่งผลไม้ไทยยังเป็นที่ต้องการมาก แต่การขนส่งยังมีปัญหาที่ต้องผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ผลไม้ในเขตภาคใต้ใช้เวลานานไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอาเซียนด้วยกันได้ ซึ่งหากการเจรจาทวิภาคีระหว่างกับอินเดียประสบผลสำเร็จ คาดว่า รัฐบาลจะเห็นชอบจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนาท่าเทียบเรือระนอง ซึ่งจะทำให้ผลไม้ภาคใต้ทั้งหมดขนส่งไปยังอินเดียได้โดยตรง" นายอภิชาต กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.naewna.com/news.asp?ID=247500