ยึดริมแม่น้ำโขงเลี้ยงปลาในกระชัง รายได้งามวันละกว่า 1.7 แสนบาท
หลังจากที่สองพี่น้องตระกูลพ่อค้าไทย "กษิดิษ-ศิริภูมิ พ่อค้าไทย" ล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพปลูกมะเขือเทศมานานหลายปี ในที่สุดทั้งสองพี่น้องตัดสินใจล้มเลิกอาชีพเก่าหันมาเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำโขง ยึดทำเลหมู่ 5 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เริ่มจาก 3 กระชังเมื่อ 14 ปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นรายใหญ่ที่สุดของภาคอีสานมี 150 กระชัง สามารถจับขายได้วันละ 1 กระชัง น้ำหนัก 2.5 ตัน ขายในราคา กก.ละ 70 บาท ทำให้มีรายได้วันละกว่า 1.7 แสนบาท
กษิดิษ ย้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอาชีพของเขาและน้องชาย "ศิริภูมิ" จากเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศในพื้นที่กว่า 30 ไร่ริมแม่น้ำโขงหันมาเลี้ยงปลานิลในกระชังในแม่น้ำโขงว่า เมื่อปี 2540 ได้มี กิตติพศ งามเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และ นิรันดร แก้วกาหลง ประมงจังหวัดหนองคาย เข้าไปแนะนำและส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชัง พร้อมพาไปดูงานการเลี้ยงปลานิลในกระชังที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หลังจากที่ได้ศึกษาดูงานแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า จึงตัดสินใจลงทุนกันคนละ 2 หมื่นบาท มีผู้ร่วมหุ้น 5 คนรวมถึง ศิริภูมิ ด้วย
การเลี้ยงปลานิลในกระชังช่วงแรกนั้นควบคู่กับการปลูกมะเขือเทศ โดยเริ่มต้นเลี้ยง 3 กระชังก่อน เป็นกระชังขนาด 5x5x3 เมตร เลี้ยงปลานิลได้ 1.2 หมื่นตัว โดยใช้อาหารปลานิลสำเร็จรูปไฮเกรด ใช้เวลาเลี้ยง 75 วัน ได้ปลาขนาดตัวละ 500 กรัม ขายในราคา กก.ละ 40 บาท ปรากฏว่าขายดีมาก ชุดแรกกำไรกว่า 1 หมื่นบาท ทำให้เกิดกำลังใจและมั่นใจมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจเลิกทำไร่มะเขือเทศ มาเลี้ยงปลานิลในกระชังอย่างเต็มตัว เพิ่มจาก 3 กระชัง เป็น 10 กระชัง ในนามแพปลา "บุญเพ็ง" พร้อมปรับราคาขึ้นเป็น กก.ละ 55 บาท ปรากฏว่าผลการดำเนินการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรที่น่าพอใจ จึงได้เพิ่มกระชังปลาเป็นลำดับ จนปัจจุบันผ่านไป 14 ปีมีกระชังเลี้ยงปลาทั้งหมด 150 กระชัง และเหลือมีหุ้นส่วน 2 คนกับน้องชาย
"ตอนแรกทางซีพีเอฟจะช่วยเหลือด้านวิชาการ การป้องกันโรค หาตลาดให้ ตอนนี้เราแข็งแรงพอแล้ว ซีพีเอฟอยู่ห่างๆ แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิม เพราะเรายังเป็นลูกค้าในด้านอาหาร ส่วนการดำเนินการเราทำเองอย่างครบวง คือแบ่งเครือข่าย 4 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นเพาะอนุบาลลูกปลา แล้วนำมาให้ผมเลี้ยงในกระชัง ส่วนอีก 2 กลุ่มคือสายส่ง และแผงจำหน่าย ซึ่งมีตลาดหลัก 3 จังหวัดคือ หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ในแต่ละวันจะนำปลาออกมาขายเป็นปลาขนาด 8 ขีดถึง 1 กก.วันละ 1 กระชัง จำนวน 2,700 ตัว น้ำหนักรวม 2.5 ตัน หากเป็นช่วงเทศกาลเป็นวันละ 10 ตัน ขายที่หน้าแพปลาในราคา กก.ละ 70 บาท หากวันปกติจะมีรายได้ตกวันละ 1.75 แสนบาท หักต้นทุนแล้วสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน" กษิดิษ กล่าว
ด้าน กิตติพศ บอกว่า แพปลาบุญเพ็งถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลาในแม่น้ำโขงรายใหญ่ที่สุดในภาคอีสานที่ทางซีพีเอฟสนับสนุน ตั้งแต่ช่วงแรกสนับแทบทุกด้านตั้งแต่ลูกปลา อาหาร ให้ความรู้วิธีเลี้ยง ป้องกัน และหาตลาดให้ ปัจจุบันแม้แพปลาบุญเพ็งยืนได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีปัญหาทางซีพีเอฟก็ยินดีช่วยเหลือเหมือนเดิม เพราะเป็นลูกค้ามานานถึง 14 ปี
"ตอนนี้เราไม่ห่วงแล้ว เพราะแพบุญเพ็งยืนได้ด้วยตัวเอง ทางซีพีเอฟ คงเดินหน้าส่งเสริมรายอื่นที่สนใจ เพราะเห็นว่าอาชีพนี้รายได้ดี ลงทุนแพละเพียงกระชัง 1 แสนบาท เป็นกระชังขนาด 4x6x2 เมตร เลี้ยง 100 วัน ได้ปลา 2.5 ตัว ขาย กก.ละ 70 บาท จะได้เงิน 1.75 แสนบาท เท่ากับกำไรกระชังละ 7.5 หมื่นบาท 1 ปี เลี้ยงได้เฉลี่ย 3.5 รุ่น หากเป็นรายย่อยเลี้ยง 10 กระชังก็อยู่ได้แล้ว" กิตติพศ กล่าว
ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว แต่ขึ้นอยู่กับคนที่ชอบและมีทำเลเหมาะด้วยจึงจะสำเร็จได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110204/87804/ยึดริมแม่น้ำโขงเลี้ยงปลาในกระชังรายได้งามวันละกว่า1.7แสนบาท.html