จ้องต่อยอดผลงานวิจัย อ.จุฬาฯ ผลิตน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งสำเร็จ

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 54
จ้องต่อยอดผลงานวิจัย อ.จุฬาฯ ผลิตน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งสำเร็จ

หลังจากที่เมธีวิจัยอาวุโสจากสังกัดภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ " และคณะ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2553 ปรากฏว่ามีบริษัทเอกชนสนใจที่จะนำไปต่อยอดจำนวนมาก เนื่องจากนอกจากช่วยลดต้นทุนจากการนำเข้าเทคโนโลยีและน้ำเชื้อแช่แข็งได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มอัตราการคลอดและจำนวนลูกต่อครอกอยู่ในระดับเท่าเทียมกับการนำเข้าน้ำเชื้อจากต่างประเทศ

ศ.น.สพ.ดร.มงคล บอกว่า ที่ผ่านมาพบว่า คนไทยบริโภคเนื้อสุกรปีละ 10-13 ล้านตัว และมีการส่งออกไปต่างประเทศในรูปหมูมีชีวิต เนี้อหมูสด และผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู มูลค่ามหาศาล แต่การที่ผลิตหมูให้มีคุณภาพจำเป็นต้องอาศัยพ่อแม่พันธุ์ที่ดีเพื่อผลิตหมูขุนที่มีคุณภาพ เขาและคณะจึงทำโครงการวิจัยภายใต้โครงการ “น้ำเชื้อสุกรแช่แข็ง : อิทธิพลของพ่อสุกร วิธีแช่แข็ง วิธีผสมเทียมและความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่สุกรหลังการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2553

การผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งจึงช่วยปรับปรุงพันธุ์ เก็บพันธุกรรมที่ดีของพ่อหมู สามารถป้องกันโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ เนื่องจากน้ำเชื้อหมูแช่แข็งทำได้ยาก เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาน้ำเชี้อแช่แข็งสุกรในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาอัตราการผสมติด ตั้งท้องและคลอดลูกหลังผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในอนาคต

"การวิจัยของเราพบว่า การเติมสารชนิดหนึ่งเรียกว่าอีควิคส์ เอสทีเอ็ม (Equex STM) ลงในสารละลายก่อนการแช่แข็งมีผลต่อการเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อหลังการละลาย และตัวอสุจิของสุกรพันธุ์ยอร์กเชียร์มีแนวโน้มที่ไวต่อกระบวนการแช่แข็งและละลายมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งการนำน้ำเชื้อแช่แข็งไปผสมเทียมด้วยวิธีสอดท่อเข้าตัวมดลูกเป็นวิธีการที่เหมาะสมและให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เนื่องจากตัวอสุจิแช่แข็งมีอายุค่อนข้างสั้น การผสมเทียมให้ใกล้เวลาตกไข่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนควบคุมการตกไข่ เช่น ฮิวแมนคลอริโอนิก โกนาโดโทรปิน (เอชซีจี) หรือโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง ฮอร์โมน (จีเอ็นอาร์เอช) ทำให้กำหนดเวลาการผสมเทียมสำหรับน้ำเชื้อแช่แข็งได้แม่นยำยิ่งขึ้น ให้ผลอัตราการคลอดร้อยละ 60-65 ได้ลูกสุกรต่อครอก 8-9 ตัว" ศ.น.สพ.ดร.มงคล กล่าว

เมธีวิจัยอาวุโสบอกอีกว่า หลังผลงานวิจัยชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ค้าหมูในประเทศ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือเบทาโกร เครือมิตรภาพ ในการนำไปต่อยอดใช้กับศูนย์ผลิตน้ำเชื้อและฟาร์ม เพื่อประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมเลี้ยงหมู ทั้งนี้การใช้น้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์และให้ลูกหมูเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ศ.น.สพ.ดร.มงคล ยังบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำสายพันธุ์ไปขายในรูปน้ำเชื้อที่จีน เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าการขายน้ำเชื้อสด เนื่องจากการแช่แข็งน้ำเชื้อเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพันธุกรรมพ่อสุกรที่มีค่าพันธุกรรมดีเลิศ อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมสุกรที่ดีที่สุดในเอเชีย มีระบบการจัดการที่ทันสมัย ทั้งนี้ การแช่แข็งน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ 1 ตัว หากนำไปผสมขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สุกรขุน มูลค่าที่คาดจะได้ต่อการรีดน้ำเชื้อ 1 ตัว ถึง 27 ล้านบาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.komchadluek.net/detail/20110208/88137/จ้องต่อยอดผลงานวิจัยอ.จุฬาฯผลิตน้ำเชื้อสุกรแช่แข็งสำเร็จ.html