ปลานิลกระชังน้ำโขง ต้นทุนต่ำรายได้มั่นคง

หมวดหมู่ : ข่าวเกษตร เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 54
ปลานิลกระชังน้ำโขง ต้นทุนต่ำรายได้มั่นคง

แม่น้ำโขง มีขนาดใหญ่เป็น อันดับ 8 ของโลก ต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน บริเวณที่ราบสูงทิเบต และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร ปริมาณน้ำ 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร


ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขง คือ ตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกัน สัตว์น้ำที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่งของโลก พบได้เฉพาะในแม่น้ำโขงคือ ปลาบึก

ด้วยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำที่มีธรรมชาติสะอาด สมบูรณ์ทั้งสองฟากฝั่งจึงเกิดอาชีพเลี้ยงปลานิลในกระชังขึ้นมา โดย นายกษิดิศร์ พ่อค้าไทย อายุ 49 ปี เกษตรกรชาวไร่มะเขือเทศ บอกว่า ในอดีตได้ล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพปลูกมะเขือเทศมาหลายปี กระทั่ง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ นายนิรันดร แก้วกาหลง ประมงจังหวัดหนองคาย มาแนะนำให้เลี้ยงปลานิลในกระชัง พร้อมพาไปดูงานระบบการเลี้ยงที่ เขื่อนอุบลรัตน์ หลังจากนั้นก็เล็งเห็นว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี จึงตัดสินใจลงทุนคนละ 2 หมื่นบาท กับ นายศิริภูมิ พ่อค้าไทย ซึ่งเป็นน้องชาย

"โดยมาเลี้ยงปลานิลในกระชังบริเวณริมแม่น้ำโขง เมื่อปี 2540 ใช้ทำเลบริเวณหมู่ที่ 5 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย การเลี้ยงช่วงแรกนั้นควบคู่กับการปลูกมะเขือเทศ เริ่มต้นเลี้ยง 3 กระชังก่อน ในขนาด 5x5x3 เมตร เลี้ยงปลานิลได้ 1.2 หมื่นตัว โดยให้อาหารปลานิลสำเร็จรูปไฮเกรด ใช้เวลา เลี้ยง 75 วัน ได้ปลาขนาด ตัวละ 500 กรัม ขายในราคา กก.ละ 40 บาท มี กำไร 10,000 กว่าบาท จึงตัดสินใจ เลิกทำไร่มะเขือเทศมาเลี้ยงปลานิลในกระชัง อย่างเต็มกำลังความสามารถในนามแพปลาบุญเพ็ง (แปลว่าคืนพระจันทร์เต็มดวง) พร้อมปรับราคาขึ้นเป็น กก.ละ 55 บาท ปรากฏว่าผลการดำเนินการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้เพิ่มกระชังปลาเป็นลำดับ" นายกษิดิศร์กล่าวและว่า

ปัจจุบันกลายเป็นรายใหญ่ที่สุดของ ภาคอีสานมี 150 กระชัง สามารถจับขายได้วันละ 1 กระชัง น้ำหนัก 2.5 ตัน ใน ราคา กก.ละ 70 บาท ทำให้มีรายได้วันละกว่า 1.7 แสนบาท โดยมี นายกิตติพศ งามเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนและส่งคนมาคอยดูแลแพปลา ในตอนแรกจะช่วยเหลือด้านวิชาการ การป้องกันโรค หาตลาดให้ ตอนนี้ซีพีเอฟยังเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิม ส่วนเราดำเนินการ แบ่งเครือข่าย 4 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง เพาะเลี้ยง และ อนุบาลลูกปลา แล้วนำมาให้ผมเลี้ยงในกระชังเป็นกลุ่มที่สอง และกลุ่มสามคือ สายส่ง และกลุ่มที่สี่ เป็นพ่อค้าที่แผงจำหน่าย ซึ่งมีตลาดหลัก 3 จังหวัดคือ หนองคาย หนองบัวลำภู และ อุดรธานี

กษิดิศร์ บอกอีกว่า ในแต่ละวันจะนำปลาออกมาขายเป็นปลาขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก.วันละ 1 กระชัง จำนวน 2,700 ตัว น้ำหนักรวม 2.5 ตัน หากเป็นช่วงเทศกาลเป็นวันละ 10 ตัน ขายที่หน้าแพปลาในราคา กก.ละ 70 บาท หากวันปกติจะมีรายได้ตกวันละ 1.75 แสนบาท หักต้นทุนแล้วสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแน่นอน

นายกิตติพศ งามเจริญ กล่าวเสริมว่า แพปลาบุญเพ็ง ถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลาในแม่น้ำโขงรายใหญ่ที่สุดในภาคอีสานที่ทางซีพีเอฟสนับสนุน ตั้งแต่ช่วงแรกต้องช่วยกันแทบทุกด้าน ตั้งแต่ลูกปลา อาหาร ให้ความรู้วิธีเลี้ยง ป้องกัน และไปดำเนินการหาตลาดให้ ปัจจุบันแพปลาบุญเพ็งยืนด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ถ้าหากมีปัญหาในการเลี้ยงเราก็ยังคงเข้ามาช่วยเหลือเหมือนเดิม เพราะถือว่าเป็นลูกค้ากัน มานานถึง 14 ปี

"ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมรายอื่นที่สนใจ เพราะเห็นว่า อาชีพที่มีรายได้มั่นคง สามารถเก็บเกี่ยวรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนเพียง กระชัง ละ 1 แสนบาท เป็นกระชังขนาด 4x6x2 เมตร เลี้ยง 100 วัน ได้ปลา 2.5 ตัน ขาย กก.ละ 70 บาท เฉลี่ยแล้วจะได้เงิน 1.75 แสนบาท เท่ากับกำไร กระชังละ 7.5 หมื่นบาท ระยะเวลาการเลี้ยง 1 ปี ได้เฉลี่ย 3.5 รุ่น รายย่อยเลี้ยงเพียง 10 กระชัง ก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว" กิตติพศกล่าว

อาชีพการเลี้ยงปลานิลในกระชังริมน้ำโขง ของตระกูลพ่อค้าไทย ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง "ความสำเร็จ" ซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลที่เหมาะสมและด้วยความสามารถของคนขยันเท่านั้นเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554
http://www.thairath.co.th/content/edu/147438