ใช้มูลแพะใส่ในนาลดต้นทุนข้าวได้ครึ่ง
นายทองอยู่ ปิ่นทอง ครูติดแผ่นดินอีกท่านหนึ่งของจังหวัดชัยนาท และรองประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางลือ-ท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีการปรับปรุงพื้นที่นา 25 ไร่ ได้พยายามลดต้นทุนการผลิตเหลือไร่ละประมาณ 2,400 บาทในขณะที่เพื่อนเกษตรกรมีต้นทุนไร่ละประมาณ 3,990 บาทกว่า โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ก่อนเตรียมดินโดยไม่เผาตอซังและฟางข้าว ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ชนิดผง ไม่ได้อัดเม็ด) ตันละ 1 พันบาท ประมาณ 120 กก./ไร่ คิดเป็นเงินประมาณ 120 บาท และใส่ปุ๋ยคอก (ขี้แพะ) กระสอบละ 8 บาท จำนวน 4 กระสอบ/ไร่ คิดเป็นเงินประมาณ 32 บาท
ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อข้าวอายุ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 8-10 กก./ไร่ ประมาณ 160 บาท ใส่ปุ๋ยคอก (ขี้แพะ) 4 กระสอบ คิดเป็นเงินประมาณ 32 บาท หว่านให้ทั่วแปลงนา และใส่ปุ๋ยคอก (ขี้แพะ) 1 กระสอบ คิดเป็นเงินประมาณ 8 บาท รอบ ๆ แปลงนา เพื่อป้องกันหนูกัดกินข้าวด้วย พบว่าใช้แล้วหนูไม่รบกวนข้าวอีกเลย โดยในช่วงเริ่มต้นลุงทองอยู่ได้เริ่มใช้กับที่นาของตนเอง พบว่าหนูไม่เข้ามากัดกินต้นข้าวของตนเองเลย ในขณะที่แปลงนาข้างเคียงยังพบการระบาดของหนูนาอยู่ ต่อมาเมื่อเพื่อนทราบเทคนิคดังกล่าวจึงนำไปทดลองใช้และสามารถแก้ปัญหาหนูนากัดกินต้นข้าวอย่างได้ผล
ผลที่ได้รับ ข้าวเจริญเติบโตดี ต้นข้าวแข็งแรงลดค่าใช้จ่ายกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ใบข้าวตั้งตรง ลดแหล่งสะสมโรคและแมลงศัตรูพืชได้มาก มีสีเขียวไม่มากนัก จากแนวคิดที่มั่นใจว่าปุ๋ยหมักและมูลแพะมีปริมาณของไนโตรเจนเพียงพอ และสังเกตจากใบของข้าวมีความสด เขียว ที่เพียงพอจึงไม่ต้องนำปุ๋ยยูเรียใส่เพิ่มเติมอีก ต้นทุนคำนวณจากต้นทุนเมื่อใช้ปุ๋ยหมักมูลแพะ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมประมาณ 2,240 บาท/ไร่ เปรียบเทียบจากเดิมใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และ 16-20-0 และต้นทุนอื่น ๆ รวมประมาณ 4,090 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าเช่านา)
สำหรับจังหวัดชัยนาทรณรงค์ให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ ดินป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และยึดหลักการปฏิบัติผลิตสินค้าปลอดภัยและได้มาตรฐาน พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 1,500-2,000 บาท ในปี 2553 จึงดำเนินงานโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนและผลิตข้าวปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และ พัฒนากระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตามระบบการจัดการผลิตข้าวตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม ในพื้นที่ปลูกข้าว 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาท เกษตรกร 800 ราย การดำเนินงานโดยรวมเกษตรกรเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน จำนวน 40 กลุ่ม และจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับการถ่ายทอดความรู้การผลิตข้าวปลอดภัย และได้มาตรฐาน ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ผสมผสานองค์ความรู้วิชาการร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจังหวัดชัยนาทได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบครูติดแผ่นดินข้าว ในพื้นที่อำเภอเมืองชัยนาท สรรคบุรี และหันคา จำนวน 9 คน มีองค์ความรู้หลากหลายในแต่ละรายที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มกราคม 2554
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=113555