งานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
เทคโนโลยีการกำจัดแมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio frequency)
ทีมวิจัย
- นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
- บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด (รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการพัฒนาเครื่อง BiO-Q)
- บริษัท ทีซัส เฟบิกซ์ ฟู้ดเทค จำกัด (ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ ระดับ SME)
เกี่ยวกับเทคโนโลยี
ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 15 ปี โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Georg-August-Universität Göttingen ประเทศเยอรมนี มีผลงานที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและเห็นผลอย่างชัดเจน โดยการนำ เทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุมา ประยุกต์ใช้ในการกำจัดแมลงและไข่แมลง เช่น มอดในข้าวสาร โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ทำให้เกิดอุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียส ในเวลา 2-3 นาที สามารถกำจัดแมลงและไข่แมลงที่ปนเปื้อนอยู่ภายในข้าวสารได้ และเรียกกระบวนการของเทคโนโลยีนี้ว่า “UTD RF (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) โดยได้รับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ที่นำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุไปใช้กำจัดมอดในข้าวสารโดยสร้างเป็นเครื่อง BiO-Q
เครื่องผลิตน้ำอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyzed water)
ทีมวิจัย
- นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
- บริษัท ทริปเปิ้ล บียอนด์ จำกัด (รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Licensing) สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออเนกประสงค์ยี่ห้อ QKLEAN
เกี่ยวกับเทคโนโลยี
จากการพัฒนางานวิจัยทางด้านออกซิเดชั่นเทคโนโลยี ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ได้พัฒนางานวิจัยและเครื่องต้นแบบเครื่องผลิตน้ำอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyzed water) และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผลิตน้ำอิเล็กโทรไลต์นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท ทริปเปิ้ล บียอนด์ จำกัด จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยการ Licensing และนำไปผลิตเป็นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในรูปแบบน้ำอิเล็กโทรไลต์ น้ำยาฆ่าเชื้อจากธรรมชาติ 100% ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อราได้ถึง 99.99% ไร้สารตกค้าง ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นทั้งน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่สามารถฆ่าเชื้อบนพื้นผิวต่างๆ ได้ภายใน 15 วินาที โดยมีกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous acid, HOCl) ซึ่งเป็นกรดธรรมชาติที่มีอยู่ในร่างกายของคนและเป็นสารที่ผลิตโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ในขณะที่ร่างกายมีการติดเชื้อ และไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังเมื่อมีการสัมผัสโดยตรงจึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
เครื่องรมโอโซนอัตโนมัติแบบ Converter
ทีมวิจัย
- ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
- บริษัท เชียงใหม่ อีทีเอส เอนจิเนียริ่ง จำกัด (รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Licensing)
เกี่ยวกับเทคโนโลยี
โอโซน (Ozone, O3) เป็นก๊าซที่มีความไวต่อการทำปฏิกิริยาเคมี มีคุณสมบัติในการเป็นตัวออกซิไดซ์ จึงเกิดปฏิกิริยาได้ดี และมีการสลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้มีพิษตกค้างน้อย โดยการขอขึ้นทะเบียน อนุสิทธิบัตร เลขที่ 1803002518 ระบบการรมโอโซนเพื่อลดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลาไยผลสด และการนำเทคโนโลยีโอโซนมาประยุกต์ใช้และขยายผลไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการ Licensing ให้แก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเครื่องต้นแบบรมโอโซนอัตโนมัติแบบ converter สำหรับการรมฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในพริก ลำไย กำจัดกลิ่นกระเทียมแห้ง รมกำจัดเอทิลีนในการเก็บรักษาทุเรียน และกำจัดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นต้น
เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวลองกองเพื่อการส่งออก
ทีมวิจัย
- ทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
- บริษัท ริชฟิลด์ เฟรช ฟรุ๊ต จำกัด เป็นผู้นำเทคโนโลยีไปใช้
- บริษัท Pagoda เป็นบริษัทค้าปลีก นำผลลองกองไปวางจำหน่ายที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
เกี่ยวกับเทคโนโลยี
เป็นการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- กระบวนการหลุดร่วงของลองกองหลังการเก็บเกี่ยวและการควบคุม
- สรีรวิทยาและกายวิภาคของเซลล์บริเวณการหลุดร่วงและการปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มคุณภาพของลองกองสำหรับการส่งออก
- การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของเอนไซม์บริเวณหลุดร่วงของผลลองกอง
เพื่อใช้ในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลลองกองเพื่อการส่งออก ณ โรงคัดบรรจุของภาคเอกชน ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โดยมีบริษัท Pagoda เป็นผู้นำผลลองกองไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทดลองส่งออกผลลองกองจำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ระยะเวลาในการขนส่ง 10 วันจากประเทศไทยไปยังตลาดปลายทางที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ผลลองกองหลุดร่วงไม่เกิน 5 % และสามารถวางจำหน่ายต่อได้นาน 4 วัน มีผลร่วงไม่เกิน 20% และจากการประเมินผลของผู้นำเข้า พบว่าคุณภาพของผลลองกองอยู่ในเกณฑ์ดี