สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2553) ได้รายงานผลผลิตรวมของมะม่วงประมาณ 2,469,814 ตัน ในจำนวนนี้ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 2,420,114 ตัน ส่งออกในรูปของมะม่วงสดประมาณ 24,000 ตัน ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งราคาส่งออกมะม่วงสดประมาณ 20,830 บาทต่อตัน การส่งออกนับเป็น 2% ของผลผลิตมะม่วงทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยมาก และประเทศไทยยังมีศักยภาพสามารถส่งออกได้มากกว่านี้ ความต้องการมะม่วงโดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้ นับว่าเป็นที่ชื่นชอบของต่างประเทศ เช่น ยุโรป และ อเมริกามาก แต่ก็ยังมีปัญหาในการส่งออกหลายประการ เช่น
1. คุณภาพของวัตถุดิบที่จะส่งยังไม่ดีเท่าที่ควร
2. อายุการเก็บรักษาสั้น และมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายมากมาย
3. ค่าขนส่งทางอากาศไปยุโรปและอเมริกาสูง ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย
อุราภรณ์ และคณะ (2546) ได้ศึกษาความเสียหายของมะม่วงในระยะต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้คือ
1.ความเสียหายในระยะเก็บเกี่ยว ประมาณ 23.75%
2. ความเสียหายในระยะขนส่งไปยังตลาดประมาณ 31.05%
3. ความเสียหายในระยะการวางจำหน่าย ประมาณ 20.0%
ในแต่ละระยะการเกิดความเสียหายเกิดจากปัจจัยต่างๆ คือ
1. ในระยะเก็บเกี่ยว ความเสียหายเกิดจาก
1.1 โรค Anthracnose 62.80%
2.2 ผลแตก 12.50%
3.3 ผลช้ำ 9.4%
4.4 ราดำ 6.0%
5.5 ตำหนิที่ผิว 5.3%
6.6 ยางไหล 2.3%
7.7 ขั้วเน่า 1.5%
2. ระยะการขนส่งเสียหายเนื่องจาก
2.1 ผลช้ำ 45.60%
2.2 โรค Anthracnose 44.30%
2.3 ยางไหล 5.80%
2.4 ราดำ 3.10%
2.5 ขั้วเน่า 1.30%
3. ระยะการวางจำหน่ายเสียหายเนื่องจาก
3.1 โรค Anthracnose 63.20%
3.2 ผลช้ำ 29.0%
3.3 ขั้วเน่า 4.40%
3.4 ราดำ 2.40%
3.5 ยางไหล 1.10%
จากความเสียหายคิดเป็นมูลค่า (หากคิดราคามะม่วง 40 บาท/ กก.) ดังนี้
ระยะการเก็บเกี่ยวสูญเสีย มูลค่าประมาณ 23,463.2 ล้านบาท
ระยะขนส่งสูญเสีย มูลค่าประมาณ 30,675.1 ล้านบาท
ระยะการวางจำหน่ายสูญเสีย มูลค่าประมาณ 19,758.5 ล้านบาท
รวมสูญเสียประมาณ 73,896.8 ล้านบาท
จากการศึกษาพบว่า ทุกขั้นตอนความเสียหายจากโรค anthracnose สูงที่สุด เป็นโรคที่จะต้องควบคุมตลอดทั้งปี พอเริ่มออกดอกก็ยิ่งต้องเพิ่มการดูแลใกล้ชิด และต่อเนื่องไปถึงหลังการเก็บเกี่ยว เพราะโรคนี้มีผลกระทบต่อการเก็บรักษามากที่สุด ถ้าสามารถควบคุมโรคนี้ได้จะลดความสูญเสียได้นับเป็นมูลค่า 40,811 ล้านบาท ซึ่งศูนย์ฯ ได้ดำเนินการไปแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจซึ่งจะต้องดำเนินการแบบบูรณาการจึงจะประสบความสำเร็จ
อีกปัจจัยหนึ่งนอกจากการลดการสูญเสียเนื่องจากโรคแล้ว การศึกษาหาวิธียืดอายุการเก็บรักษาให้มีอายุอยู่ได้นานหลังการเก็บเกี่ยว เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาด และยืดอายุให้เพิ่มจากเก็บรักษา 27 วันเป็น 35-40 วัน ทั้งนี้จะช่วยให้สามารถส่งทางเรือได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง เพราะค่าระวางทางอากาศไปยุโรปและอเมริกา ประมาณ 100-130 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าสามารถส่งทางเรือได้จะเสียค่าระวางประมาณ 10-20 บาท ทำให้ประหยัดค่าขนส่งได้ไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้นทุนต่ำ สามารถตั้งราคาเพื่อแข่งขันกับมะม่วงจากประเทศอื่นได้ และสามารถขายมะม่วงได้ราคาสูงโดยต้นทุนต่ำลง เพราะในยุโรปราคามะม่วงจะขายไม่ต่ำกว่า 220 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะกระตุ้นการส่งออก สามารถเพิ่มรายได้จากการส่งออกมะม่วงได้มากยิ่งขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
ด้วยนโยบายของศูนย์ฯ ซึ่งประสงค์ให้การศึกษาวิจัยเป็นแบบบูรณาการ สหสาขาวิชา ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ บุคลากร ตลอดจนความร่วมมือกับภาคการผลิต จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย การทำงานไม่ซ้ำซ้อน ตรงต่อทิศทางการวิจัย (Research Direction) และมีกลุ่มวิจัยที่เน้นชัดแน่นอน (Research Focus) ตามที่ศูนย์ได้กำหนดไว้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์ฯ มีการประชุมกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยร่วมทุกมหาวิทยาลัย ประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ก่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
จากผลการศึกษาวิจัยโครงการมะม่วงมาระยะหนึ่ง ศูนย์ฯ ได้ประสานงานกับบริษัทผู้ส่งออกประมาณ 3 บริษัท คือบริษัท 3F Exotic จำกัด บริษัท Shine Forth จำกัด และบริษัท Koerner Agro Ex- port Center จำกัด ซึ่งบริษัททั้ง 3 นี้ ได้สนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ รวมเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งมะม่วงไปตลาดยุโรป โดยขนส่งทางเรือจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองดูไบ และขนส่งต่อทางเครื่องบินไปยุโรป โครงการนี้ได้ตกลงรับหลักการในการดำเนินการแล้ว แต่เกิดปัญหาวัตถุดิบไม่มีคุณภาพและปริมาณไม่เพียงพอ จึงต้องชะลอการดำเนินงานไปก่อน
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้จัดฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เพื่อผลิตมะม่วงคุณภาพ สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 นี้ จะมีการอบรมผู้ส่งออกมะม่วง โดยนำเอาผลการวิจัยทั้งหมดมาสร้างองค์ความรู้ เป็นรูปแบบสำหรับการผลิตมะม่วงเพื่อส่งออก นอกจากเกษตรกรและผู้ส่งออกแล้ว ศูนย์ฯ ยังให้คำปรึกษาแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งโดยตรง ทางโทรศัพท์ ทาง e-mail และอื่นๆ นอกจากนี้ยังเผยแพร่ข้อมูลสู่ภาครัฐ ข้าราชการ และพนักงานของรัฐอยู่เป็นประจำ
นโยบายการวิจัยของศูนย์ฯ มี 2 ลักษณะคือ
1. วิจัยและนำผลการทดลองที่ลงลึกนำไปตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ มักเน้นงานวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ส่วนใหญ่
2. วิจัยเพื่อนำไปแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเป็นความต้องการของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสีย ปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น ยืดอายุ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผลเกษตร งานวิจัยจึงเน้นไปในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง
ดังนั้นการจัดลำดับความเป็นเลิศระดับไหน จึงเป็นเรื่องยาก หากเพียงเปรียบเทียบ (Bechmarking)ในกลุ่ม ASEAN งานด้านหลังการเก็บเกี่ยวนี้ ศูนย์ฯ อยู่ในระดับสูงสุด แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป ศูนย์ฯ คงอยู่ในระดับรองลงมา
ที่กล่าวถึงการส่งออกยังไม่สำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิวิธีการขนส่ง (Logistic) ถ้าขนส่งทางอากาศใช้เวลาสั้น ผลกระทบน้อย แต่เสียค่าขนส่งสูงมาก ปัจจุบันศูนย์ฯ จึงพยายามศึกษาวิจัยเพื่อขนส่งทางเรือ ซึ่งเสียค่าขนส่งต่ำ แต่ต้องยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น นักวิจัยจากสถาบันเครือข่าย ได้ร่วมกันแก้ปัญหานี้อยู่ เพราะมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของมะม่วง แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้สร้างหรือผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถออกไปช่วยแก้ปัญหาของสังคม ตลอดจนผลงานวิจัยสามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศด้วย
ผลงานวิจัย ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ประโยชน์ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัญหาเรื่องอะไร เช่นบางบริษัทมีปัญหาเรื่องโรคแอนแทรคโนส ก็จะนำผลการทดลองที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปประยุกต์ใช้ บางบริษัทสนใจเรื่องใช้ฟิล์มห่อมะม่วงเพื่อยืดอายุ ก็จะเลือกเอาผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยทุกเรื่องที่ศูนย์ให้การสนับสนุน จะนำไปสู่การนำไปใช้ได้จริง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งออก ทำให้เพิ่มคุณภาพผลผลิต ขายได้ราคาดี มีรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น รายได้จากการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย นอกจากนี้การวิจัยยังช่วยฝึกนักศึกษา สร้างเสริมประสบการณ์ในการศึกษา วิจัยเพื่อแก้ปัญหาโดยตรง และวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ด้วย รวมถึงการให้บริการวิชาการแก่ผู้เกี่ยวข้องในรูปแบบการฝึกอบรมเกษตรกรและผู้ส่งออก