การเก็บเกี่ยว
ประเด็นปัญหา
การขาดแคลนแรงงานและความล่าช้าในการเก็บเกี่ยว ซึ่งนับวันแรงงานทางด้านการเกษตรจะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองมีสูง ทำให้เสียค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานนี้ หากปล่อยข้าวทิ้งไว้นานเกินไปจะทำให้ปริมาณข้าวที่ร่วงหล่นจากรวงมีมาก
วิธีการแก้ไขปัญหา
การวิจัยใช้เครื่องจักรกลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวในปัจจุบันเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังขาดแรงงานด้านเกษตรค่อนข้างมาก อาทิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันหาคนงานมารับจ้างเกี่ยวข้าวยากมาก เมื่อมีเครื่องเกี่ยวข้าว โดยเฉพาะเครื่องเกี่ยวนวด (combine harvester) จะเพิ่มความรวดเร็ว สะดวก ลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งศูนย์ฯ มีโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวดข้าวสมรรถนะสูง” โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการศึกษาพบว่าถ้าใช้แรงงานคนเกี่ยวข้าว จะสูญเสียประมาณ 6.25% คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 19,000 ล้านบาท และเมื่อได้ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวด สามารถลดความสูญเสียลงเหลือน้อยกว่า 2% ทำให้ลดความสูญเสียลงได้ปีละประมาณ 13,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องเกี่ยวนวด ลดการสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด ดังโครงการวิจัย “การพัฒนาอุปกรณ์ขับราวใบมีดตัดเพื่อลดการสั่นสะเทือนของเครื่องเกี่ยวนวดข้าว” (มข.) และ “การพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวดข้าวคอรวงแบบติดตั้งกับรถไถเดินตาม” (มมจ.)
การขนย้าย
ประเด็นปัญหา
สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หากข้าวถูกปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป จะทำให้ข้าวหลุดร่วงมาก เกิดการสูญเสียข้าวเปลือกขณะขนย้ายไปสถานที่นวดข้าว
วิธีการแก้ไขปัญหา
การนำเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมมาใช้ โดยเฉพาะเครื่องที่สามารถดำเนินการได้ทั้งการเกี่ยวและนวดในคราวเดียวกัน เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในขณะขนย้ายได้
การนวดข้าว
ประเด็นปัญหา
การนวดข้าวโดยใช้แรงงานคนนั้น ต้องเสียค่าจ้างแรงงานสูง เนื่องจากแรงงานขาดแคลน และยังประสบปัญหาการสูญเสียจากการหลุดร่วงของเมล็ดข้าวเปลือกด้วย
วิธีการแก้ไขปัญหา
เนื่องจากบางพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว หรือเครื่องเกี่ยวนวดข้าวมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้าวโดยการใช้แรงงานคน ดังนั้นจึงมีโครงการวิจัย “เครื่องนวดข้าวแบบสายพาน” (มช.) มาแก้ปัญหาการสูญเสียที่เกิดขึ้น
การเก็บรักษาข้าวเปลือกรอการสี
ประเด็นปัญหา
ในระหว่างการเก็บรักษาข้าวมักมีการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวนั้นความสูญเสียของผลผลิตมักเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและการเข้าทำลายของศัตรูในโรงเก็บ ซึ่งศัตรูที่เข้าทำลายข้าวในโรงเก็บภายหลังการเก็บเกี่ยวมีอยู่หลายชนิด เช่น นก หนู เชื้อรา ไร และแมลงศัตรูพืช ซึ่งในแต่ละปีสามารถทำความเสียหายให้กับเมล็ดข้าวเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการเกิดข้าวเมล็ดเหลือง เกิดกลิ่นเหม็นอับ และมีสิ่งสกปรกเจือปนมาก
วิธีการแก้ปัญหา
จากปัญหาที่กล่าวในขั้นต้น โครงการวิจัย “อัตราการขยายพันธุ์สุทธิของผีเสื้อข้าวเปลือกและการตรวจสอบการทำลายโดยใช้คลื่นเสียง” (มช.) ได้ศึกษาประเมินความสูญเสียของผลผลิตที่เกิดจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูในโรงเก็บ ซึ่งประเมินประชากรของผีเสื้อข้าวเปลือก โดยการตรวจวัดเสียงของแมลง ศูนย์ฯ นอกจากยังนั้นยังมีการศึกษาวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดโรค แมลง หลังการเก็บเกี่ยวของข้าว และคงรักษาคุณภาพของข้าว ดังโครงการวิจัยต่อไปนี้
- โครงการวิจัย “การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและคุณภาพของข้าวระหว่างการเก็บรักษา” (มช.)
- โครงการวิจัย “สมบัติทางกายภาพ เคมี และคุณภาพหุงต้มของข้าวระหว่างการเก็บรักษา” (มช.)
- โครงการวิจัย “การเปลี่ยนแปลงคุณภาพข้าวเปลือกเมื่อเก็บรักษาในไซโลเหล็ก” (มข.)
ประเด็นปัญหา
ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงทั่วโลก มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความหอม สารที่ทำให้เกิดความหอมนี้ไวต่อแสงและอุณหภูมิ เป็นเหตุให้ข้าวสารที่เก็บไว้เป็นเวลานานมีความหอมลดลงจนใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ไม่หอม มีรายงานว่ากลิ่นจะลดลง 50% เมื่อเก็บที่อุณหภูมิห้องปกติ
วิธีการแก้ปัญหา
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาโครงการวิจัย “การเก็บรักษาข้าวหอมมะลิเพื่อให้คงความหอมด้วยวิธี Grain Chilling” (มช.) และ โครงการวิจัย “ผลของการลดความชื้นด้วยอุณหภูมิและระยะเวลาการเก็บรักษาต่อคุณภาพความหอมองค์ประกอบเคมี และสมบัติทางกายภาพของข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105” (มช.) เพื่อรักษาคุณสมบัติความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไว้ โดยมีวิธีลดความชื้นและเก็บรักษาที่เหมาะสม