การลดความชื้น / การสีข้าว / การรักษาคุณภาพข้าวสาร (ข้าว) งานวิจัยครบวงจรศูนย์ฯ

การลดความชื้น / การสีข้าว / การรักษาคุณภาพข้าวสาร งานวิจัย ข้าว หมวดหมู่ : งานวิจัยครบวงจร
การลดความชื้น / การสีข้าว / การรักษาคุณภาพข้าวสาร

การลดความชื้น

ประเด็นปัญหา

ข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝนมักมีปัญหาข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ปัญหาข้าวความชื้นสูงส่งผลให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็ว เมล็ดเกิดรอยร้าวภายในก่อนสี ทำให้คุณภาพการสีต่ำ การเกิดกลิ่นสาบ เมล็ดมีสีเหลืองคล้ำ แมลงที่ติดมากับเมล็ดเจริญเติบโตและขยายพันธุ์รวดเร็ว

วิธีการแก้ปัญหา

การลดความชื้นของข้าวให้เหลือ 14 %wb เป็นระดับปลอดภัยในการเก็บรักษา แต่เนื่องจากลานตากและเครื่องอบลดความชื้นมีไม่เพียงพอกับปริมาณข้าวเปลือกความชื้นสูงที่เก็บเกี่ยวในแต่ละวัน ทำให้มีข้าวเปลือกจำนวนมากที่ต้องนำมารวมกองกันไว้เพื่อรอการลดความชื้น ซึ่งอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการเสื่อมคุณภาพ ดังนั้นจึงศึกษาโครงการวิจัย “การชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูงโดยการระบายอากาศออกจากกองข้าว” (มข.) มาแก้ปัญหานี้ และยังมีโครงการวิจัย “ผลของการลดความชื้นด้วยอุณหภูมิและระยะเวลาการเก็บรักษาต่อคุณภาพความหอมองค์ประกอบเคมี และสมบัติทางกายภาพของข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105” (มช.) และโครงการวิจัย “การเร่งความเก่าของข้าวเปลือกหอมมะลิโดยการอบ” (มข.) ศึกษาวิธีลดความชื้นของข้าวแต่ยังรักษาคุณภาพของข้าวให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย

การสีข้าว

การสีข้าว

ประเด็นปัญหา

การสีข้าวประกอบไปด้วยขั้นตอน การทำความสะอาดข้าวคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากข้าวเปลือก การกะเทาะให้เปลือกข้าวหลุดออกจากเมล็ด การขัดขาวทำให้รำหลุดออกมาจากเมล็ดข้าวกล้อง และการคัดแยกเพื่อแยกข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว และข้าวหักขนาดต่างๆ ออกจากกัน การแตกหักของข้าวในกระบวนการสีข้าวเกิดขึ้นมากในขั้นตอนการกะเทาะและการขัดขาว เกิดข้าวหักมาก ทำให้ขายข้าวไม่ได้ราคา เพราะข้าวเต็มเมล็ดขายได้ราคาสูงกว่าข้าวหัก

วิธีการแก้ไขปัญหา

โครงการวิจัย “การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดการสึกของลูกยางกะเทาะข้าวของโรงสี” (มข.) และ “การศึกษาผลของอุณหภูมิและความดันที่เกิดขึ้นที่มีต่อคุณภาพข้าวในการขัดขาว” (มข.) ศึกษาเทคโนโลยีการสีข้าวที่ทำให้เกิดการแตกหักของข้าวได้น้อยลง สามารถลดการสูญเสียของข้าวได้

การรักษาคุณภาพข้าวสาร

การรักษาคุณภาพข้าว

ประเด็นปัญหา

ข้าวหลังจากผ่านขบวนการขัดสีแล้วจะเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะว่าข้าวกล้องและจมูกข้าวมีส่วนประกอบของไขมันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไขมันเสื่อมสภาพจะทำให้เกิดการเหม็นหืนขึ้นได้ การเสื่อมสภาพของไขมันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากขัดสีเอาส่วนเปลือกออกจะเกิดหลังจากนั้น 12 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งสภาพการเก็บรักษาหลังจากการขัดสีแล้วมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของข้าวกล้องและการเกิดกลิ่น รส สีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปในทางการค้าแล้วนั้น ข้าวจะถูกเก็บรักษาภายใต้บรรจุภัณฑ์เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อรอจำหน่ายหรือรอการบริโภค ซึ่งการเก็บรักษาข้าวไว้เป็นระยะเวลานานนั้นจะทำให้ข้าวที่เก็บรักษาจะมีคุณสมบัติบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งทางเคมีและกายภาพ ตามระยะเวลาและสภาพแวดล้อมที่เก็บรักษา การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อคุณภาพเมล็ดข้าวกล้องเอง เช่น การเกิดกลิ่นสาบหรือเหม็นหืน การลดลงของกลิ่นหอม รวมไปถึงเกิดเชื้อราและแมลงทำลายข้าวได้

วิธีการแก้ไขปัญหา

ปัญหาเรื่องความเสียหายของข้าวสารในขั้นตอนการเก็บรักษาจึงเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องกันแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียขณะการเก็บรักษาดังกล่าวลง ศูนย์ฯ มีโครงการวิจัยที่ศึกษาการยืดอายุการเก็บรักษาข้าวสาร และการกำจัดโรคและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง เพื่อให้ได้ข้าวที่มีมาตรฐานสนองต่อ นโยบายเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารที่สะอาดโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งมีโครงการวิจัยต่างๆ ดังนี้

  • โครงการวิจัย “ผลของวิธีบรรจุภัณฑ์และระยะเวลาการเก็บรักษาต่อคุณภาพความหอมและฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระของข้าวเจ้าหอมนิลไทย” (มช.)
  • โครงการวิจัย “ดัชนีชี้วัดการผสมข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กับพันธุ์อื่นเพื่อการหุงต้มและรับประทานที่เหมาะสม” (มช.)
  • โครงการวิจัย “การรักษาคุณภาพความหอมของข้าวโดยวิธีห่อหุ้มเมล็ดด้วยสารเคลือบ” (มช.)
  • โครงการวิจัย “การใช้คลื่นความถี่วิทยุกำจัดเชื้อรา Aspergillus flavus แมลงศัตรูข้าว และการเร่งความเก่าในข้าวสารบรรจุถุง” (มช.)
  • โครงการวิจัย “การพัฒนาการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อรา Aspergillus flavus และ สาร Aflatoxin ในเมล็ดข้าวและข้าวโพดด้วย VIS/NIR Spectroscopy” (มช.)