การจัดการในแปลงปลูก (มะม่วง) งานวิจัยครบวงจรศูนย์ฯ

การจัดการในแปลงปลูก งานวิจัย มะม่วง หมวดหมู่ : งานวิจัยครบวงจร
การจัดการในแปลงปลูก

ประเด็นปัญหา : โรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วง

โรคแอนแทรคโนสเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการส่งออกมะม่วง ซึ่งโรคนี้เกิดจากการทำลายของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Penz and Sacc. โรคแอนแทรคโนส จัดเป็น polycyclic disease ที่มีการสร้างส่วนขยายพันธุ์ขึ้นใหม่ และเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญตลอดฤดูการปลูก จึงทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก เชื้อรามีการทำลายแบบแฝงในช่วงที่ผลมะม่วงเริ่มพัฒนา เชื้อจะอยู่ในระยะพักตัว ต่อมาเมื่อผลใกล้สุก เชื้อจะเริ่มพัฒนาใหม่และทำลายผลมะม่วงก่อให้เกิดอาการผลเน่าเสีย ซึ่งจัดเป็นโรคในระยะหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญของมะม่วง ในบางสวนพบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคนี้สูงถึง 60-70% พบมากเมื่อมะม่วงสุกแก่เต็มที่ และมักจะเกิดความเสียหายรุนแรงในระยะขนส่งและวางจำหน่าย

โรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วง

วิธีการแก้ไขปัญหา

สาเหตุการเกิดโรคเนื่องจากการปลูกมะม่วงยังไม่มีระบบการจัดการที่ดีในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสซึ่งควรจะปฏิบัติตั้งแต่อยู่ในสวน คือการกำจัดหรือทำลายแหล่งของเชื้อโรคให้หมดไปหรือให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด และนำระบบการจัดการ GAP (Good Agricultural Practice) หรือ วิธีการทำเกษตรดีที่เหมาะสม นำมาจัดการคุณภาพ เป็นแนวทางในการทำเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดและคุ้มค่ากับการลงทุน กระบวนการผลิตต้องปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ งานวิจัยของศูนย์ฯ ที่ดำเนินการไปแล้วมีดังต่อไปนี้

(1) โครงการวิจัย : การจัดการระบบการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก (มช.)
การจัดการที่ดีในสภาพสวนในระยะหลังการตัดแต่งกิ่งและรักษาความสะอาดบริเวณโคนต้นโดยการกำจัดวัชพืช และการทำความสะอาดต้นมะม่วงด้วยการฉีดพ่นสารประกอบคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เพื่อเป็นการล้างต้น สำหรับฤดูการผลิตต่อไปนั้น สามารถลดแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุที่เจริญแฝงอยู่บนต้นมะม่วง ส่งผลให้สามารถลดมาตรการจัดการโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงระยะหลังเก็บเกี่ยวได้

(2) โครงการวิจัย : การตรวจหาการเจริญแบบแฝงของเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงน้ำดอกไม้โดยใช้ลักษณะโครงสร้างทางสรีรวิทยาและสันฐานวิทยาของมะม่วงและวิธีทางอณูชีววิทยา (มช.)
พัฒนาวิธีการตรวจสอบเชื้อราที่เจริญแบบแฝงภายในเนื้อเยื่อพืช สำหรับนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของวิธีการควบคุมหรือป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นแนวทางการตรวจสอบวิเคราะห์เชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสที่เจริญแฝงอยู่ในผลมะม่วง ก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถการรับประกันให้แก่บริษัทผู้ส่งออกด้านความเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของเชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสที่เจริญแฝงอยู่

(3) โครงการวิจัย : ความสัมพันธ์ระหว่างกลไกความต้านทานและการเกิดโรคแอนแทรคโนสของผลมะม่วง (มจธ.)
การศึกษานี้ทำให้ทราบว่าในช่วงแรกของการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้มีกิจกรรมของเอนไซต์ที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานโรคสูงกว่ามะม่วงพันธุ์อื่น แต่หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนมะม่วงพันธุ์อื่นๆ เช่นโชคอนันต์ อกร่อง แก้ว และหนังกลางวัน จะมีเอนไซต์ในปริมาณที่คงที่ตลอดการเก็บรักษา ส่งผลให้ทราบว่ามะม่วงน้ำดอกไม้อ่อนแอต่อการเกิดโรคมากกว่าพันธุ์อื่น

(4) โครงการวิจัย : การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในการพัฒนาคุณภาพผล การแก่ของผล และคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง (มช.)
สามารถเร่งหรือชะลอการแก่ของผลเพื่อเก็บเกี่ยวผลมะม่วงได้เร็วขึ้นหรือช้าลงโดยที่คุณภาพผลมะม่วงยังคงมีคุณภาพ

ประเด็นปัญหา : การพัฒนาสีผิวไม่สม่ำเสมอของมะม่วงมหาชนก

มะม่วงพันธุ์มหาชนก เป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นมะม่วงที่เกิดจากการผสมระหว่างมะม่วงพันธุ์ซันเซทกับมะม่วงพันธุ์หนังกลางวัน มีลักษณะเด่นคือ มีปริมาณเนื้อมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติดี ทั้งยังมีสีผิวสวยงามสีสันสะดุดตาโดยเมื่อสุกเปลือกจะมีสีเหลืองปนแดง ซึ่งเป็นสีผิวที่ชาวต่างประเทศนิยมชมชอบ ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคมะม่วงในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่คุ้นเคยกับมะม่วงสายพันธุ์ของอเมริกาใต้ที่มีผิวสีแดงและคิดว่ามะม่วงที่แก่เต็มที่ต้องมีผิวสีแดง เช่นเดียวกับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่นิยมมะม่วงสีแดงมากกว่ามะม่วงสีเหลือง ดังนั้นมะม่วงพันธุ์มหาชนกน่าจะมีอนาคตดี แต่พบปัญหาที่เปลือกผลมีการพัฒนาสีไม่สม่ำเสมอซึ่งส่งผลให้คุณภาพและราคาของผลมะม่วงมีค่าลดลง

มะม่วงพันธุ์มหาชนก

วิธีการแก้ไขปัญหา

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการแสดงออกของสีผิวของผล มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก การสร้างและสลายตัวของรงควัตถุ คือ คลอโรฟิลล์ คาโรทินอยด์ และแอนโทไซยานิน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง รวมไปถึงการจัดการในสวน โดยการตกแต่งทรงพุ่ม หรือการใช้วัสดุชนิดต่างๆในการห่อผลมะม่วง เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาสีผล ศูนย์ฯ จึงได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาสีผิวและคุณภาพผลของมะม่วงพันธุ์มหาชนก” (มช.) มารองรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพบว่าการห่อผลด้วยถุงการค้าเมื่อผลยังเล็กอยู่ช่วยพัฒนาสีแดงของเปลือกผลได้ และจากการศึกษานี้พบความเป็นไปได้ในการเพิ่มขนาดและพัฒนาสีผิวของมะม่วงพันธุ์มหาชนกโดยการให้สารคล้ายบราสซินตั้งแต่ 30 วันหลังดอกบานควบคู่กับการใช้วัสดุสะท้อนแสงที่เหมาะสม