ประเด็นปัญหา
การเก็บเกี่ยวผลมะม่วงในระยะสุกแก่ที่ต่างกัน มีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของมะม่วง ความแก่อ่อนของผลเมื่อเก็บเกี่ยว และอุณหภูมิในการเก็บรักษาเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดอายุการเก็บรักษาและคุณภาพ ทั้งนี้โดยความแก่ที่เหมาะสมของมะม่วงแต่ละพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ และระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง การส่งออกทางเรือใช้เวลานานในการขนส่ง ถ้ามะม่วงมีความแก่มากอาจทำให้อายุการเก็บรักษาสั้น ไม่สามารถส่งออกทางเรือได้ หรือถ้าระยะความแก่น้อยอาจทำให้คุณภาพไม่เป็นที่ยอมรับ
วิธีการแก้ไขปัญหา
การศึกษาคัดเลือกความแก่อ่อนของมะม่วงที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเก็บรักษาผลมะม่วงสำหรับส่งออกไปยังตลาดที่ต้องขนส่งเป็นระยะทางไกลๆ โดยไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อคุณภาพผล ศูนย์ฯ จึงได้สนับสนุนให้มีโครงการวิจัยต่างๆ ดังนี้
(1) โครงการวิจัย : ผลของระยะความบริบูรณ์และอุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษาต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วงพันธุ์มหาชนกเพื่อการส่งออก (มช.)
ผลมะม่วงที่อายุ 112 วันหลังดอกบานเป็นระยะที่มีความแก่ที่เหมาะสมที่สุดโดยผลสามารถสุกอย่างปกติ มีรสชาติดี มีการเข้าทำลายของโรคน้อยกว่า และสามารถเก็บไว้ได้นาน 5 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 5 และ 8 °C โดยมีคุณภาพด้านกายภาพและเคมีใกล้เคียงกันกับชุดควบคุม
(2) โครงการวิจัย : การตรวจสอบปริมาณองค์ประกอบทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพระหว่างการเจริญเติบโตของผลมะม่วง เพื่อการประเมินหาดัชนีความแก่ และดัชนีคุณภาพ (มช.)
เป็นการศึกษาหาอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก คือ ผลที่มีอายุ 126 133 และ 140 วันหลังติดผล มีคุณภาพในการบริโภคผลสุกดีที่สุด หลังจากการบ่มสุกและเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 °C นาน 5 วัน
(3) โครงการวิจัย : การรับรู้ความแน่นเนื้อของผลมะม่วงภายใต้การกระแทกเพื่อคัดความแก่อ่อนของผลมะม่วง (มก.)
ศึกษาการรับรู้ความแน่นเนื้อของผลมะม่วงภายใต้การกระทำกระแทก เพื่อการคัดแยกผลมะม่วงอ่อนแก่ พบว่าระยะการเจริญเติบโตของผลมะม่วงมีอิทธิพลต่อสมบัติยืดหยุ่นของผลมะม่วง วิธีการกระแทก สามารถระบุความแน่นเนื้อของมะม่วงได้
(4) โครงการวิจัย : การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในการพัฒนาคุณภาพผล การแก่ของผล และคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง (มช.)
สามารถเร่งหรือชะลอการแก่ของผลเพื่อเก็บเกี่ยวผลมะม่วงได้เร็วขึ้นหรือช้าลงโดยที่คุณภาพผลมะม่วงยังคงมีคุณภาพ
ข้อเสนอแนะ
การวิจัยของศูนย์ฯ ที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการเก็บผลมะม่วง โดยเก็บมะม่วงปริมาณมากในเวลาที่รวดเร็ว และยังคงรักษาคุณภาพผล ลดความเสียหายในขณะที่เก็บเกี่ยว