การบรรจุหีบห่อ (มะม่วง) งานวิจัยครบวงจรศูนย์ฯ

การบรรจุหีบห่อ งานวิจัย มะม่วง หมวดหมู่ : งานวิจัยครบวงจร
การบรรจุหีบห่อ

ประเด็นปัญหา

การสูญเสียระหว่างการขนส่งโดยมีปัญหามาจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกระหว่างการขนส่ง ทำให้ผลมะม่วงเกิดความเสียหาย และเมื่อสวมโฟมตาข่ายให้กับผลมะม่วงบรรจุลงในกล่องกระดาษลูกฟูก เพื่อลดแรงกระแทกแล้ว เมื่อถึงตลาดปลายทางยังคงพบการเน่าเสียจากโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราขึ้น ซึ่งเชื้อราสาเหตุโรคสามารถกระจายตัวจากผลหนึ่งไปยังอีกผลหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

การบรรจุหีบห่อ

วิธีการแก้ไขปัญหา

การคิดรูปแบบบของบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันแรงกระแทก เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับการบรรจุผลมะม่วงในถุงพลาสติก 1-2 ผลต่อถุง ซึ่งเป็นการเก็บรักษาแบบดัดแปลงบรรยากาศ ก่อนบรรจุลงในกล่องกระดาษลูกฟูก จะช่วยลดการกระจายตัวของเชื้อสาเหตุโรคได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน ลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ชะลอการเสื่อมเสีย ทำให้ผลิตผลมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น โครงการวิจัยของศูนย์ฯ ที่รองรับปัญหาของบรรจุภัณฑ์มีดังต่อไปนี้

(1) โครงการวิจัย : ผลของฟิล์มพลาสติกต่อการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ (มจธ.)
การใช้บรรจุภัณฑ์แบบ MAP ชนิดพลาสติก LLDPE มีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาผลมะม่วงที่อุณหภูมิ 25 °C ได้ดีกว่าพลาสติกชนิด PVC และสามารถป้องกันการเกิด chilling injury กับผลมะม่วงที่เก็บที่อุณหภูมิ 7 °C ได้

(2) โครงการวิจัย : ผลของบรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติก LDPE และ 1-methylcyclopropene ต่อการรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก (มก.)
เป็นการใช้ 1-MCP รมผลมะม่วงร่วมกับบรรจุในถุงพลาสติก LDPE ที่แตกต่างกัน 4 ชนิด พบว่าการใช้ถุงชนิด AM4 สามารถยืดอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 °C ได้นาน 4 สัปดาห์ ไม่ว่าจะรมผลมะม่วงด้วย 1-MCP หรือไม่

(3) โครงการวิจัย : การเปรียบเทียบความสามารถของภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่งในการปกป้องมะม่วงรับประทานสุก (มก.)
จากการจำลองสภาพการขนส่งและการสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่ง พบว่าการใช้ภาชนะบรรจุที่เหมาะสมและใช้ร่วมกับตาข่ายโฟมกันกระแทก สามารถช่วยลดความเสียหายและปกป้องคุณภาพผลมะม่วงได้

(4) โครงการวิจัย : การศึกษาความสามารถของตาข่ายที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในการป้องกันผลมะม่วงจากการกระแทก (มก.)
พบว่ากระดาษลูกฟูกหน้าเดียวลอนลูกฟูกอยู่ด้านนอก สามารถปกป้องผลมะม่วงจากการช้ำได้และสามารถนำไปพัฒนาใช้แทนตาข่ายโฟมได้

(5) โครงการวิจัย : การพัฒนาปรับปรุงรูปแบบบรรจุภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อให้เหมาะสมต่อการส่งออกทางเรือ (มช.)
เป็นการพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับมะม่วงเพื่อการยืดอายุการเก็บรักษา เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับการส่งออกทางเรือที่ต้องการอายุการเก็บที่นานขึ้น (ประมาณ 35 วัน) โดยการใช้สารเคมี การใช้ห้องเย็น ร่วมกับควบคุมบรรยากาศในบรรจุภัณฑ์ในถุงพลาสติกฟิล์มที่บรรจุมะม่วง 1 ลูก โดยคำนึงถึงปริมาณการใช้สารเคมี อุณหภูมิในการเก็บรักษา โดยใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ (ฟิล์มพลาสติก) และส่วนผสมของแก๊สในการควบคุมบรรยากาศ

(6) โครงการวิจัย : การป้องกันการเกิดอาการสะท้านหนาวโดยใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อพัฒนาต้นแบบการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสำหรับอุตสาหกรรมส่งออก (มช.)

(7) โครงการวิจัย : การใช้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์คอมพอสิตในการรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ไทย (มก., มช., จุฬาฯ, บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน))
เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์คอมพอสิตกับฟิล์มบรรจุภัณฑ์ LDPE ของบริษัทเอกชน ในการรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษา มะม่วง เงาะ มังคุด ลองกอง ลำไย มะนาว และเห็ดฟาง เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้กับการบรรจุผักและผลไม้ชนิดอื่นๆ ต่อไป