ประเด็นปัญหา
หลังจากที่ผลมะม่วงไปถึงตลาดส่งออก หากไม่มีระบบการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี จะทำให้ผลมะม่วงมีระยะเวลาในการวางจำหน่ายที่สั้นลง หรือเกิดความเสียหายต่อคุณภาพผล ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค
วิธีการแก้ไขปัญหา
ศูนย์ฯ ได้ศึกษาประเมินความเสียหายของผลมะม่วงในแหล่งวางจำหน่ายของตลาดในประเทศ ภายใต้โครงการวิจัย “การประเมินความเสียหายในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยว” (มช.) แต่ในอนาคต ศูนย์ฯ ยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในตลาดส่งออกต่างประเทศ เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงเพื่อการส่งออกได้อย่างครบวงจร
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมะม่วงตัดแต่งพร้อมบริโภค โดยการส่งออกมะม่วงในรูปแบบตัดแต่งนี้ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการกักกันพืช คือไม่ต้องผ่านการฉายรังสีแกมมาหรืออบไอน้ำ นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการส่งออก และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผล แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับผลไม้ตัดแต่งนี้ คือความสด ใหม่ และความสะอาดของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการแปรรูปในลักษณะนี้ เกิดการบอบช้ำและการเน่าเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อจุลินทรีย์ได้มากกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ผ่านการแปรรูป ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงได้จัดทำโครงการวิจัยต่างๆ ดังนี้
- (1) โครงการวิจัย ผลของสารระเหยธรรมชาติที่มีต่อการสะท้านหนาวและคุณภาพของมะม่วงตัดแต่งพร้อมบริโภค (มก.)
- (2) โครงการวิจัย การใช้สารฆ่าเชื้อและความร้อนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางจุลินทรีย์ของมะม่วงตัดแต่ง (มก.)
- (3) โครงการวิจัย การแปรรูปมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้พร้อมบริโภค (มจธ.)
- (4) โครงการวิจัย การชะลอการเกิดสีน้ำตาลของมะม่วงสุกพร้อมบริโภคด้วยสาร Antibrowning (มจธ.)