การหาวิธีการห่อหุ้มผลมะม่วงในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยใช้ฟิล์มโพลีเมอริคเจาะรู
ณรงศักดิ์ ค้านอธรรม
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 86 หน้า.
2537
บทคัดย่อ
การทดลองเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ระยะแก่แต่ยังดิบอยู่ (Mature green) ที่ผ่านมาการแช่ด้วยสารละลายฆ่าเชื้อรา benomy1 ความเข้มข้น 1000 ppm. อุณหภูมิ 52 – 55 oC นาน 5 นาที ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุผลมะม่วงในถาดพลาสติกpolystyrene แล้วห่อด้วยพลาสติก PVC ความหนา 0.01 มม. ถาดละ 3 ผล แล้วเจาะรูลงบนฟิล์ม มีพื้นที่รูขนาด 0-8.0 ซม2 ต่อพื้นที่ฟิล์ม 500 ซม2 เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง(27-34 oC, 56-83 %RH), 20 oC (70-99 %RH) และ 13 oC (63-89 %RH) พบว่าการห่อฟิล์มโดยไม่มีการเจาะรูทำให้เกิดการสุกผิดปกติที่อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิ 20 oC เนื่องจากสีผิวและสีเนื้อไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ ขณะที่ผลนิ่ม และกลิ่นผิดปกติ ส่วนที่อุณหภูมิ 13oC มะม่วงทั้งที่มีการห่อฟิล์ม ห่อฟิล์มที่เจาะรุขนาดพื้นที่ต่าง ๆ และไม่ห่อฟิล์มจะไม่สามารถสุกได้ แต่ไม่เกิดอาการผิดปกติ การเจาะรูขนาดต่าง ๆ กันจะทำให้ระดับปริมาณ CO2 และ O2 ที่แตกต่างกันภายในภาชนะบรรจุ ผลมะม่วงที่มีการห่อฟิล์มโดยเจาะรูที่พื้นที่รูไม่ต่ำกว่า 0.64 ซม2 (ปริมาณ O2 15-19 % ) ที่อุณหภูมิห้อง และ ไม่ต่ำกว่า 0.29 ซม2 (ปริมาณ O2 18-20%) ที่อุณหภูมิ 20 oC จะสุกได้เมื่อนำมาสุกที่ 20 oC โดยมีพื้นที่รูเท่ากับพื้นที่รูที่สุกได้ที่ 20 oC(0.29 ซม2 ) การเจาะรูที่มีพื้นที่รูสูง 8.00 ซม2 จะทำให้ผลสุกโดยมีสีผิวที่เหลืองสม่ำเสมอกว่าและคุณภาพรสชาติดีกว่าชุดที่ไม่ห่อฟิล์ม แต่ไม่ยืดอายุการเก็บรักษา การพัฒนาของสีผิวและสีเนื้อจะขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซ O2 ภายในภาชนะบรรจุการพัฒนาของสีเปลือกต้องการปริมาณ O2 ที่มากกว่าการพัฒนาสีของเนื้อ การจำกัดพื้นที่รูให้น้อยลงมีผลชะลอการลดลงของกรดซิตริก และมีแนวโน้มในการชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ในระยะแรกของการเก็บรักษา การเจาะรูจะทำให้ความแน่นของเนื้อของผลลดลงเร็วกว่าชุดที่ฟิลม์โดยไม่เจาะรูและชุดควบคุม